อิหร่าน ที่มากกว่าราคาน้ำมัน

รัฐบาลอิหร่านที่ถูกครอบงำด้วยบรรดา "นักบวชอลาตุลเลาะห์" นิกายชีอะฮ์ ภายใต้กรอบสาธารณรัฐอิสลาม พยายามสร้างภาพให้คนอิหร่านและชาวโลกเชื่อว่าการลุกฮือครั้งใหญ่ในรอบ 9 ปีของกลุ่มมวลชนอย่างกะทันหัน มีรูปแบบคล้ายคลึงกับ Operation Ajax 1953 ที่เป็นปฏิบัติการลับเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอิหร่านที่เดินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมของนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซาเดกห์ โดยหน่วยงานลับของสหรัฐฯและอังกฤษร่วมมือกัน


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

รัฐบาลอิหร่านที่ถูกครอบงำด้วยบรรดา “นักบวชอลาตุลเลาะห์” นิกายชีอะฮ์ ภายใต้กรอบสาธารณรัฐอิสลาม พยายามสร้างภาพให้คนอิหร่านและชาวโลกเชื่อว่าการลุกฮือครั้งใหญ่ในรอบ 9 ปีของกลุ่มมวลชนอย่างกะทันหัน มีรูปแบบคล้ายคลึงกับ Operation Ajax 1953 ที่เป็นปฏิบัติการลับเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอิหร่านที่เดินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมของนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซาเดกห์ โดยหน่วยงานลับของสหรัฐฯและอังกฤษร่วมมือกัน

ข้ออ้างดังกล่าว ไม่มีใครรู้ว่าเป็นแค่สงครามโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นข้อเท็จจริง เพราะข้อมูลข่าวสารค่อนข้างสับสน และขาดวิ่นเนื่องจากระบบโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตถูกตัดขาดจากหน่วยงานรัฐทั้งหมด และสื่อตะวันตกที่รายงานออกมาก็มีความน่าเชื่อถือต่างจากคนภายนอก 

รู้กันเพียงแค่ว่าการลุกฮือดังกล่าว (คล้ายคลึงกับการลุกขึ้นสู้แบบ “อาหรับสปริงส์” เมื่อหลายปีก่อน เริ่มต้นในแอลจีเรีย แล้วลุกลามไปหลายประเทศในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ที่กินเวลายาวนานหลายปี) มีลักษณะเป็นการลุกฮือแบบ “ไร้หัว” หรือ “ไร้จัดตั้ง” ที่ชัดเจน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วสุ่มเสี่ยงที่จะถูกปราบปรามจากหน่วยงานใช้ความรุนแรงของรัฐได้ไม่ยากนัก

แล้วก็รู้ด้วยว่า ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งแรงทำราคาเหนือ 61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 30 เดือน มาจากความวิตกกังวลว่า สถานการณ์ในอิหร่านอาจจะบานปลายจนกระทบกับอุปทานของการผลิตน้ำมันในตลาดโลกด้วย

เท่าที่ประมวลข้อมูลเบื้องต้น การลุกฮือที่ “ไร้หัว” ดังกล่าว มีข้อสังเกตน่าสนใจคือ

  • สาเหตุเบื้องหลังยังไม่ชัดเจน ท่ามกลางข้อมูลที่ย้อนแย้งกัน ขณะที่สื่อตะวันตกอ้างว่า เป็นเพราะความไม่พอใจของประชาชน ต่อระบอบการปกครองที่รวมศูนย์ แต่อิหร่านก็อ้างว่า เกิดจากกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลเล็กๆ ชื่อ People’s Mujahedin of Iran (PMIO) ที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย แล้วคนที่ยิงผู้ประท้วงนั้นไม่ใช่ทหารหรือตำรวจ หากแต่เป็นกลุ่มผู้ประท้วงเองที่ต้องการจะสร้างสถานการณ์ให้บานปลายเข้าสู่ระดับเลวร้าย
  • ข้ออ้างเรื่องการว่างงาน ราคาสินค้า และ คอร์รัปชั่น มีเงื่อนไขคือเพื่ออำพรางวิกฤติการเมืองที่ต้องการจะให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับนำในรัฐอิสลาม ซึ่งรวมไปถึง ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณคือ อยาตุลเลาะห์ โคไมนี และประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ด้วย
  • การลุกฮือเกิดขึ้นในเขตหัวเมือง แตกต่างจากการประท้วงหลังการเลือกตั้งปี 2009 ที่เป็นความริเริ่มของคนในเมืองหลวงเตหะรานออกมาต่อต้านผลการหย่อนบัตร ที่มีการโกงกันในระดับกว้างขวาง แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากชนชั้นกลางในเมืองหลวง จึง “จุดติด” ขึ้นมา จนทำให้ผู้นำระดับสูงแตกตื่นพอสมควร
  • ท่าทีของรัฐบาลต่างประเทศ อย่างซาอุดีอาระเบีย สหประชาชาติ และ รวมทั้ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งข้อความทวีตทำนองให้ท้ายผู้ประท้วงและกล่าวหาผู้ปกครองประเทศอิหร่านด้วยแล้ว ก็ยิ่งแสดงชัดเจนว่าการลุกฮือเป็นประเด็นสลับซับซ้อน มากกว่าการเรียกร้องสิทธิของประชาชนอิหร่าน
  • ผู้ที่มีบทบาทสูงและคนที่ถูกตำรวจจับระหว่างประเทศครั้งนี้มีอายุเฉลี่ยเพียง 25 ปีเท่านั้น สะท้อนถึงความรู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่านของคนรุ่นใหม่ต่อวิถีการปกครองของรัฐอิสลามภายใต้รัฐธรรมนูญแบบเทวะนิยม

ข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจที่อยู่เบื้องลังการลุกฮือครั้งนี้ สะท้อนว่าผลพวงที่เป็นซากเดนของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในกรณีการเร่งเตาปฏิกรณ์ปรมานูนิวเคลียร์ของอิหร่านยาวนานยังตกค้างและออกฤทธิ์เป็นผลข้างเคียงต่อไป

นับตั้งแต่ผลสำเร็จของการปฏิวัติอิสลามปี ค.ศ. 1979 หรือ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา การออกแบบรัฐอิสลามตามอุดมการณ์ของนิกายชีอะฮ์ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถูกครอบงำด้วยกลไกภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลักมากถึง 60% ของจีดีพี ที่เน้นหนักในด้านใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันมั่งคั่งโดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียม

แม้ว่าช่วงหลังการปฏิวัติอิสลามจะทำให้บรรดาแนวคิดทางศาสนามีบทบาทสูงมาก และเต็มไปด้วยความเข้มงวด แต่ผลจากความเสียหายของเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามยาวนานกับอิรัก ทำให้นับแต่ ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา อิหร่านจำต้องยอมผ่อนคลายให้เศรษฐกิจเอกชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จนกระทั่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นแต่ก็ไม่เพียงพอรองรับกับข้อเรียกร้องของการเพิ่มจำนวนประชากรของประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาถึง 100% และมีการเคลื่อนย้ายผู้คนจากต่างจังหวัดและชนบทเข้าสู่เขตเมืองใหญ่มากขึ้นในอัตราเร่ง

ผลลัพธ์คือความขัดแย้งจากช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นในหลายระดับ ตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจที่ย้ายจาก ภาคการเกษตรที่เปลี่ยนมาเป็นอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและบริการในเขตเมือง ทำให้จำต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นต่อเนื่องและมีราคาแพงขึ้นรวดเร็วเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของประชากร

มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ตลาดหลักทัรพย์เตหะรานเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนนักลงทุนดีที่สุดแห่งหนึ่งในตะวันออกกลางในทศวรรษที่ผ่านมาเลยทีเดียว

ยิ่งกว่านั้น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังมีผลให้จำนวนคนว่างงานในอิหร่านพุ่งสูงขึ้นมากถึง 12.5% เพราะอัตราเพิ่มของการลงทุนเอกชนต่ำกว่าอัตราเพิ่มของตลาดแรงงาน

รากเหง้าของปัญหานี้ แม้จะได้รับการแก้ไข แต่มันก็ล่าช้ากว่าความคาดหวังของผู้คน ทำให้อุดมการณ์ของรัฐอิสลามที่เกิดจากฉันทามติของรัฐธรรมนูญที่ถูกท้าทาย และมาเป็นแรงปะทุส่วนหนึ่งที่เป็นเชื้อให้กับการนำไปใช้อ้างอิงของการลุกฮือครั้งนี้

แม้จะไม่มีความชัดเจนว่าผลลัพธ์ของการลุกฮือในอิหร่านครั้งนี้จะลงเอยเช่นไร และสูญเสียมากน้อยแค่ไหน แต่ความย้อนแย้งระหว่างรัฐอิสลามในโลกยุคปัจจุบัน กับวิถีชีวิต “สามัญ” ของประชาชน หนีไม่พ้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ที่คาดไม่ถึงมาก่อน

ที่สำคัญ คนอิหร่านนั้น มีรากเหง้าวัฒนธรรมของเปอร์เซีย แม้จะเป็นอิสลาม แต่ก็ต่างจากชนเผ่าอาหรับ ดั้งนั้นกระบวนทัศน์และวิธีแก้ปัญหาหรือหาทางออก จึงมีรายละเอียดที่ต่างกันออกไป

Back to top button