“ประทีป” ซื้อถัวหุ้น MK เพลิน! ขึ้นแท่นผถห.ใหญ่เบอร์ 2 ยันชัดไม่ขอเอี่ยวบริหาร

“ประทีป ตั้งมติธรรม” ดอดเก็บหุ้น MK เข้าพอร์ต 0.06% ดันสัดส่วนถือหุ้นเพิ่มเป็น 10.04% ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ชี้ราคาหุ้น MK ยังต่ำกว่าบุ๊คแวลู ปฏิเสธเข้าร่วมบริหาร พร้อมจับตานำร่องใช้สิทธิแปลง SPALI-W4 วันที่ 19 ม.ค.นี้ หลังตุนเต็มมือกว่า 100 ล้านหน่วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแบบรายงานการได้มาของหุ้นบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK โดยเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2561 นายประทีป ตั้งมติธรรม ได้ซื้อหุ้น MK จำนวน 630,000 หุ้น คิดเป็น 0.06% ส่งผลให้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 99,634,920 หุ้น คิดเป็น 10.04% จากเดิมที่ถือหุ้น 99,004,920 หุ้น คิดเป็น 9.98% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 2 ของ MK ทันที

โดย นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า การเข้าซื้อหุ้น MK เพิ่ม เนื่องจากตนเองมีเงินสดเหลืออยู่ในมือ และมองว่าราคาหุ้น MK ปัจจุบันยังต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (บุ๊คแวลู) ซึ่งอยู่ที่ 6.46 บาทต่อหุ้น โดยเป็นการเข้าไปซื้อถัวเฉลี่ยกับราคาหุ้นเดิมก่อนหน้านั้น และอาจจะมีการซื้อถัวเฉลี่ยเพิ่มในอนาคต ส่วนกรณีราคาหุ้นที่มีการปรับตัวลดลง น่าจะมาจากผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ขณะที่การเข้าซื้อหุ้น MK ครั้งล่าสุด ทำให้ตนเองกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 2 จากเดิมที่ถือหุ้นเป็นอันดับ 4 นั้น ตนเองยังไม่มีแผนที่จะเข้าไปร่วมบริหารหรือเป็นคณะกรรมการบริหารของ MK แต่อย่างใด ดังนั้น การเข้าซื้อหุ้น MK เพิ่มจึงไม่ได้มีนัยสำคัญ และยังไม่มีแผนการร่วมทุน หรือมีการลงทุนใดๆ ร่วมกันระหว่าง MK กับ SPALI ในขณะนี้

โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1-5 ของ MK ดังนี้

ลำดับ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวนหุ้น (หุ้น) % หุ้น
1. UBS AG SINGAPORE BRANCH 119,150,000 12.01
2. บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) 96,975,608 9.78
3. บริษัท ซีพีดี โฮลดิ้ง จำกัด 60,000,000 6.05
4. นายประทีป ตั้งมติธรรม 58,028,220 5.85
5. นายฟิลิป วีระ บุนนาค 37,452,400 3.78

ที่มา ตลท. (ภาพรวมข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 09/05/2560)

ขณะเดียวกันราคาหุ้น MK เมื่อวานนี้ (9 ม.ค. 2561) ระหว่างวันได้ปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 3.72 บาท ก่อนปิดตลาดที่ 3.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.12 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 3.35% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 18.87 ล้านบาท

 

ส่วนกรณีใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะใช้ซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI-W4 จะถึงกำหนดใช้สิทธิแปลงสภาพแลกซื้อหุ้นสามัญเป็นครั้งแรกในช่วงวันที่ 19 ม.ค. 2561 ซึ่งจากการสำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้นแม่ SPALI และ SPALI-W4 พบว่า ราคา SPALI-W4 ในกระดานบวกกับราคาใช้สิทธิแลกซื้อหุ้นสามัญในขณะนี้มีต้นทุนรวมที่ถูกกว่าหุ้นแม่ SPALI

โดยวานนี้ (9 ม.ค. 61) หุ้น SPALI ได้ทำราคาปิดอยู่ที่ระดับ 23.10 บาท ขณะที่ SPALI-W4 ทำราคาปิดในกระดานอยู่ที่จำนวน 18.90 บาท เมื่อรวมกับราคาใช้สิทธิแปลงสภาพที่ 4 บาทต่อหุ้น ในอัตรา 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นสามัญ จึงมีต้นทุนรวมทั้งสิ้น 22.90 บาท เท่ากับต่ำกว่าหุ้นแม่ SPALI จำนวน 20 สตางค์

สำหรับ SPALI-W4 ได้แจ้งกำหนดระยะเวลาแจ้งความจำนงในการใช้สิทธิแปลงสภาพภายในวันที่ 12-18 ม.ค. 2561 และมีกำหนดใช้สิทธิแลกซื้อหุ้นสามัญเป็นครั้งแรกภายในวันที่ 19 ม.ค. 2561 ซึ่งในปัจจุบัน SPALI-W4 มีเทรดอยู่ในตลาดฯรวมทั้งสิ้น 429,135,954 หน่วย มีอายุ 1 ปี และกำหนดใช้สิทธิครั้งสุดท้ายภายในวันที่ 19 ต.ค. 2561

อีกทั้งจากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมยังพบอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาทาง SPALI ได้ประกาศการจัดสรร SPALI-W4 ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทในช่วงปลายปี 2560 กำหนดจัดสรรในอัตรา 4 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ แบบไม่คิดมูลค่า ซึ่งในช่วงก่อนการจัดสรร SPALI-W4 ทางนายประทีป ตั้งมติธรรม ในฐานะประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร SPALI ได้ถือหุ้นของบริษัทรวมทั้งสิ้น 413,595,644 หุ้น

โดยภายหลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น SPALI ในช่วงเดือน ก.ย. 2560 ได้มีมติอนุมัติการออกวอร์แรนต์ ส่งผลให้ทางนายประทีป ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่มีหุ้นอยู่ในมือรวม 413 ล้านหุ้น จะได้รับการจัดสรร SPALI-W4 ไปถึงประมาณ 100 ล้านหน่วย

ดังนั้น เท่ากับในขณะนี้นายประทีปมีจำนวนวอร์แรนต์คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวน SPALI-W4 ที่มีซื้อขายในกระดานทั้งหมด จึงน่าจับตาว่า ทางนายประทีปจะมีการใช้สิทธิแปลงสภาพ SPALI-W4 เป็นหุ้นสามัญในรอบนี้หรือไม่ หลังจากมีต้นทุนรวมของวอร์แรนต์ต่ำกว่าหุ้นแม่ 20 สตางค์ ซึ่งหากใช้สิทธิเต็มจำนวน จะส่งผลให้เกิดหุ้นสามัญใหม่อีก 100 ล้านหุ้น และบริษัทได้เงินระดมทุนรวม 4,000 ล้านบาท

ด้านนักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า ล่าสุดได้ให้น้ำหนักกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่อาศัย “เท่าตลาด” โดยเลือกบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI และ SPALI เป็น “ท็อปพิคกลุ่ม” และยังชอบบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP ในประเด็นทิศทางการขายบ้านแนวราบได้ดี รวมถึงบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ที่ผลประกอบการในปี 2561 จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของกลุ่มนี้ในปี 2561 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจมหภาคที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกลุ่มค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม อุปทานใหม่ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงในครึ่งปีหลังได้เช่นกัน

Back to top button