เสี่ยงร่วงยาว! 13 หุ้น โบรกฯหั่นประมาณการกำไรปี 61 – ราคาเป้าหมาย

นักวิเคราะห์คาด SET Index ในสัปดาห์นี้จะกลับไปทดสอบ 1,820 จุด โดยมีปัจจัยบวกการประกาศผลประกอบปี 2560กว่า 460 บริษัทจนถึงสิ้นเดือน เป็นตัวกระตุ้นตลาด อย่างไรก็ตามมีหุ้นหลายตัวประกาศผลการดำเนินงานดังกล่าวออกมาอย่างความโดดเด่น ขณะเดียวกันอีกด้านก็มีบริษัทที่ประกาศผลงานออกมาไม่สดใสเช่นกัน


นักวิเคราะห์คาด SET Index ในสัปดาห์นี้จะกลับไปทดสอบ 1,820 จุด โดยมีปัจจัยบวกการประกาศผลประกอบปี 2560กว่า 460 บริษัทจนถึงสิ้นเดือน เป็นตัวกระตุ้นตลาด อย่างไรก็ตามมีหุ้นหลายตัวประกาศผลการดำเนินงานดังกล่าวออกมาอย่างความโดดเด่น ขณะเดียวกันอีกด้านก็มีบริษัทที่ประกาศผลงานออกมาไม่สดใสเช่นกัน

แน่นอนปัจจัยดังกล่าวทำให้โบรกเกอร์หลายแห่งออกมาปรับลดประมาณการกำไรบริษัทที่มีผลงานไม่สดใส รวมทั้งปรับลดราคาเป้าหมายหลายตัวที่มีผลงานไม่สดใสและมีแนวโน้มต่อเนื่องในปี 61 ดังนั้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมข้อมูลหุ้นดังกล่าวมานำเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการเข้าลงทุนในช่วงนี้ สำหรับกลุ่มหุ้นที่มีการปรับตัวราคาเป้าหมายมีทั้งหมด ตัว อาทิ DCC, TNR, STEC, LPN, KCE, EPG, ASEFA, MAJOR, TASCO, LHBANK, AAV, PSH, KTB ตามบทวิเคราะห์ได้ระบุไว้ดังนี้

บล.ดีบีเอสฯ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ไดนาสตี้เซรามิค จำกัด (มหาชน) หรือ DCC  บริษัทรายงานกำไรไตรมาส4/60 เท่ากับ 208 ล้านบาท (-32%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, -14%เทียบไตรมาสก่อนหน้า) ทั้งนี้แม้ว่ายอดขายจะโต 6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4% เทียบไตรมาสก่อนหน้า แต่อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเป็น 35.1% ในไตรมาสนี้ (จาก 42.9% ในไตรมาส 4/59 และ 38.9% ในไตรมาส 3/60) ซึ่งมาจากต้นทุนพลังงาน (ก๊าซ) เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย & ค่าขนส่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน

โดยยังกังวลกับต้นทุนพลังงานที่ยังคงสูง เพราะผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ BRENT เฉลี่ยในปี 61 ว่ามีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อราว 3-5 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจะผลักดันให้ราคาก๊าซซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญเพิ่มตามไปด้วย รวมทั้งค่าขนส่งก็จะสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ราคาขายขยับขึ้นได้จากเพราะการแข่งขันในธุรกิจที่สูง และการปรับ Product mixed อาจไม่สามารถชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นได้

ดังนั้นจึงปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 61/62 ลง 9%/10% สะท้อนสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นลดลง และปรับราคาพื้นฐานลงเป็น 3.40 บาท (เดิม 4.10 บาท) โดยปรับคำแนะนำเป็น Fully Valued (เดิมถือ) สำหรับคาดการณ์ Dividend yield ปี 61 อยู่ที่ 3.2% จ่ายทุกไตรมาส (ให้สมมติฐาน Payout ratio 75% เท่ากับปี 59-60) โดยบริษัทประกาศจ่ายปันผลสำหรับงวดไตรมาส 4/60 เท่ากับ 0.023 บาท/หุ้น กำหนด XD 6 มี.ค.61 และชำระเงิน 9 พ.ค.61

 

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR คงคำแนะนำ “ถือ”แต่ปรับลดราคาเป้าหมายปี 2562 ลงเป็น 15.00 บาท จาก 20.0 บาท เพื่อสะท้อนการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2561/62 ลง 25.3%/35.1% ที่ได้รับผลของการปรับประมาณการอัตราแลกเปลี่ยน กำไรสุทธิไตรมาส 4/2560 ที่ลดลง 87.0% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 86.1% เทียบไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 6.2 ลบ. น่าจะกดดันราคาหุ้นในระยะสั้นได้

อย่างไรก็ตามมองว่าการปรับลงน่าจะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นเก็บสะสมได้ เนื่องจากการดำเนินอยู่ในเกณท์พอใช้ซึ่งรายได้ในปี 2561-2563 จะเติบโตขึ้น 11.2%-16.0% โดยเงินบาทที่จะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 2/2561 จะเป็นตัวช่วยหนุนให้กำไรมีการฟื้นตัวได้

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC รายงานผลประกอบการ ไตรมาส 4/60 ออกมาผิดคาด พลิกเป็นขาดทุน 1.3 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 675 ล้านบาท และ ไตรมาส 3/60 ที่มีกำไร 217 ล้านบาท

แม้รายได้รวมจะเติบโตทั้ง +30% เทียบไตรมาสก่อนหน้า และ +24% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการรับรู้งานในมือที่เพิ่มขึ้น แต่ถูกฉุดด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น +102% เทียบไตรมาสก่อนหน้า และ +97% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยมีสาเหตุหลักจากการตั้งสำรองขาดทุนรวม 2.9 พันล้านบาท โดยเฉพาะโครงการรัฐสภา และสนามบินภูเก็ต สืบเนื่องจากการขยายระยะเวลาในสัญญางานก่อสร้างอย่างมีนัยสำคัญจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า และการออกแบบที่ไม่ชัดเจน ทำให้ต้นทุนอย่างราคาวัสดุก่อสร้าง และค่าแรงสูงขึ้น

ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 61 ลงจากเดิม 28% เป็น 1,049 ล้านบาท (เทียบกับขาดทุน 611 ล้านบาทในปี 2017) เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และเหลือง มีปัญหาการเวนคืน ส่งผลให้การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับผู้รับเหมาล่าช้ากว่ากำหนดจากเดือนธ.ค.60 เป็น เม.ย. 61 จึงปรับลดคาดการณ์รายได้จากงานก่อสร้างลง 7% เป็น 2.5 หมื่นล้านบาท (+25% Y-Y)

อีกทั้ง ปรับอัตรากำไรขั้นต้นลงจากเดิม 9% เป็น 6.9% จากรายได้ของโครงการที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเป็น 0% เข้ามาเต็มที่อย่างโครงการสนามบินภูเก็ตที่จะส่งมอบในเดือนเม.ย.นี้ และอาคารรัฐสภาที่มีการเร่งก่อสร้างให้เสร็จทันในปี 2019 (รับรู้ราว 2.5 พันล้านบาท/ปี)

โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้จาก 2 โครงการดังกล่าวในปีนี้ราว 10-15% ของประมาณการรายได้รวม ขณะที่โครงการที่มีมาร์จิ้นดีอย่างรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง และโรงไฟฟ้าจะเริ่มก่อสร้างในช่วง 2H18

มีการปรับลดราคาเหมาะสมจากเดิม 31.80 บาท เป็น 23.00 บาท (อิง PER เดิมที่ 33 เท่า) เพื่อสะท้อนถึงการปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลง แม้ปัจจุบันบริษัทจะมีงานในมือสูงสุดเป็นประวัติการณ์ราว 1.2 แสนล้านบาท รองรับรายได้ไปอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า และมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการเป็น Net Cash Company แต่ราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside จำกัด เพียง 6% จึงปรับลดคำแนะนำจากซื้อเป็นถือ

 

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN   (NEUTRAL, TP11.00) รายงานกำไรสุทธิ 60 ที่ 1.06 พันลบ ต่ำกว่า consensus คาด 12% โดยกำไรสุทธิทั้งปีที่ลดลงมาก เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมาจากการโอนที่ลดลง -34% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ GPM (28.9%) ต่ำกว่าคาด จากการระบาย stock ทั้งนี้ LPN ประกาศจ่าย interim dividend (2H17) ที่ 0.35 บาท/หุ้น คิดเป็น dividend yield 3.1% น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้นระยะสั้น

สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิ 61 อาจไม่โตสูง เท่าเดิม จากโครงการ Lumpini Suite ดินแดง-ราชปรารภ (1.75 พันลบ; ยอดขาย 58%) อาจโอนไม่ทันในปีนี้ รวมถึงการระบาย stock บางโครงการทำได้ต่ำกว่าคาด ทำให้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 61F ลง 9% จากเดิมอยู่ที่ 1.63 พันลบ (+53% y-y) และปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 11.0 บาท/หุ้น

ทั้งนี้คง Neutral rating โดยรวม story ใน 9M18 ยังถูกกดดันจากแนวโน้มกำไรสุทธิยังไม่น่าสนใจ เพราะโครงการใหม่โอนน้อยและส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม mid to low-end โดยมองว่าจุดเปลี่ยนของ LPN อยู่ที่โครงการกลุ่ม mid to high-end เริ่มโอน ซึ่งอยู่ในไตรมาส 4/61 เป็นต้นไป ดังนั้น ณ เวลาและราคาปัจจุบัน อาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนักในการลงทุนใน LPN

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE จากประชุมนักวิเคราะห์ โทนกลางๆค่อนไปในทางลบ แม้สถานการณ์ต้นทุนทองแดงแพงยังไม่ได้ดีขึ้นนัก แต่แนวโน้มราคาทองแดงน่าจะทรงตัวได้ใกล้เคียงปี 60 และมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากค่าแรงทำทองแดงแผ่นที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มทยอยปรับลงอย่างค่อยเป็นค่อนไป เพราะต้องรอ Supply ใหม่เข้าสู่ตลาด แต่ยังคงมีปัจจัยลบกดดันคือ แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินหยวน ซึ่งจีนถือเป็นคู่แข่งหลักในตลาด PCB ทำให้บริษัทถูกกดดันต้องปรับลดราคาขายในปี 61 ลงอีกราว 1.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นราคาที่เจรจาล็อกกับลูกค้าไปแล้วในปลายปีก่อน

ทั้งนี้บริษัทยังตั้งเป้ารายได้สกุล USD ปีนี้จะเติบโต 12% – 15% แต่ด้วยภาวะเงินบาทแข็งค่า จึงปรับลดสมมติฐานค่าเงินบาทและอัตรากำไรขั้นต้น ซึ่งนำไปสู่การปรับลดกำไรปกติปี 61ลง 5.3% เป็นเติบโต 17.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเดิมคาดโต 24% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 79 บาท จากเดิม 84 บาท (อิง PE เดิม 17 เท่า) แม้ราคาหุ้นจะปรับลงมาสะท้อนปัจจัยลบไปพอสมควรแล้ว แต่ด้วย Upside ที่ยังไม่จูงใจเพียง 7.5% จึงยังแนะนำเพียง ถือ

 

บล.เคทีบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG กำไรสุทธิ 3Q18 (ต.ค.-ธ.ค.2017) ทรุดตัวลงเหลือ 182 ล้านบาท ลดลง 45% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 37% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ต่ำกว่าที่และตลาดคาดไว้มาก จากรายได้ที่ต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะ EPP ที่ยังมีทิศทางชะลอตัว จากการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่วนธุรกิจ Aeroflex และ Aeroklas ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า

นอกจากนั้น ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน กระทบอัตรากำไรขึ้นต้นลดลงเหลือเพียง 24.7% ต่ำสุดในรอบ 14 ไตรมาส

ทั้งนี้ จากปัจจัยลบดังกล่าว มีการปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 61และ 2019 ลงจากเดิม 21% และ 22% เป็นปรับตัวลดลง 29% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 17% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ มีการปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 9 บาท จากเดิม 12.20 บาท และปรับลดคำแนะนำเป็น ขาย จากเดิม ถือ 

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท อาซีฟา จำกัด (มหาชน) หรือ ASEFA กำไรไตรมาส 4/60 ที่ 61 ล้านบาท ต่ำกว่าคาด 20% (คาด 76 ล้านบาท) ส่วนใหญ่จากรายได้รับรู้น้อยกว่าคาด กำไรลดลง 10.6% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, 30..2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนจากรายได้ฟื้นน้อยกว่าคาด -3.6% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, -7.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน Gross margin ที่ 23.3% ยังลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ 23.5% และจากไตรมาส 4/60 ที่สูงถึง 25.6% จากการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากภาวะการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจชองบริษัทขยายตัวช้าทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตยังไม่สูงนัก

ปรับประมาณการกำไรปี 61ลง 6% แม้เป็นกำไรกลับมาโต 10.4% ที่ 280 ล้านบาท จากคาดการณ์รายได้ฟื้นตัว 10% หลังทรงตัวปีก่อน หนุนโดยการลงทุนโดยรวมที่คาดจะขยายมากขึ้น และปัจจัยบวกระยะยาวอานิสงค์ของโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐใน 3-4 ปีข้างหน้า โดยคาด Gross margin ทรงตัว

จากการปรับประมาณการลง ทำให้ราคาเป้าหมายปี 61ใหม่ที่ 6.50 บาท (ที่ PE 13 เท่า จากเดิม 15 เท่า) และคาด Dividend yield อัตราใช้ได้ระดับ 5% ต่อปี  (จ่ายปีละครั้ง โดยประกาศจ่ายงวดปี 2017 หุ้นละ 0.32 บาท yield 5.37% XD 3 พ.ค. จ่าย 23 พ.ค.) ปรับคำแนะนำลงเป็น ถือ จากเดิม ซื้อ

 

 

บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/60 ที่ 75 ล้านบาท ลดลง 12% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 75% เทียบไตรมาสก่อนหน้า หากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรสุทธิหลังหักภาษีจากการขายหุ้น PVRL และการตัดจำหน่ายลูกหนี้การค้าสำหรับ MPIC กำไรหลักจะอยู่ที่ 10 ล้านบาท ลดลง 93% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 96% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่คาด 93% และต่ำกว่าที่ตลาดคาด 91% เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำกว่าคาดและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงกว่าคาด

MAJOR ประกาศอัตราเงินปันผลต่อหุ้นที่ 0.60 บาทสำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งหลังของปี 2560 คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ 2% (ประกาศขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 19 เม.ย.)

กำไรหลักไตรมาส 4/60 ที่น่าผิดหวังส่งผลให้ปรับลดประมาณการปี 2561 ลง ดังนั้นจึงปรับประมาณการกำไรหลักปี 2561 ใหม่ลดลง 6% มาอยู่ที่ 1.14 พันล้านบาท และปรับลดราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2561 ลงจาก 36 บาท มาอยู่ที่ 32 บาท 

เชื่อว่าปี 2561 จะเป็นปีทองของหนังฟอร์มยักษ์ โดยคาดว่าหนังทำเงินอย่างน้อย 15 เรื่องจะทำรายได้รวมมากกว่า 100 ล้านบาทต่อเรื่อง เทียบกับ 12 เรื่องในปี 2560 โดยจะเริ่มทยอยเข้าฉายในไตรมาส1/61 นอกจากนี้ยังมีหนังไทยอีกมากว่า 50 เรื่องมีกำหนดการเข้าฉายในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 48 เรื่องในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในปัจจุบันของ MAJOR มีอัพไซต์อยู่เพียง 10% จากราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2561 ที่ปรับลดลง ดังนั้นจึงปรับคำแนะนำจาก ซื้อ เป็น ถือ

 

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO  ปัญหาชัพพลายน้ำมันดิบหนักจากเวเนซุเอลายังมีปัญหาไม่สม่ำเสมอ ทำให้คาดหมายปริมาณ Shipment น้ำมันดิบหนักปีนี้จะลดลงจาก 12 Shipment เหลือ 10 Shipment หรือ คิดเป็นยางมะตอยที่จะหายไป 160,000 ตัน  ในขณะที่ TASCO ตั้งเป้าหมายปริมาณขายในปี 2561 จะใกล้ปีก่อน คือ 1.9-2 ล้านตัน  TASCO ได้แก้ปัญหาโดย

1.) ได้ทำสัญญาระยะยาวซื้อยางมะตอยจากโรงกลั่นในภูมิภาคนี้ได้แล้ว 120,000 ตัน  2.) กำลังติดต่อซื้อน้ำมันดิบหนักจากแหล่งอื่น คือ โคลัมเบีย และ เอกวาดอร์ จำนวน 4 Shipment มาทดสอบผลิต และ ทดแทนส่วนที่หายไป 2 Shipment

ความต้องการยางมะตอยในภูมิภาคนี้ และ เอเชียเหนือ ปีนี้มีแนวโน้มจะสูง  ส่วนชัพพลายปีนี้จะหายไป 1 ล้านตัน  ซึ่งจะเห็นได้จากราคายางมะตอยในปัจจุบันแม้จะเป็นช่วงโลซีซั่น แต่ยังอยู่ในระดับสูง 325 เหรียญ/ตัน ไม่ปรับลดลง และ TASCO ยังได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มโครงการลาดยางสนามบินในอินโดนีเซีย

สำหรับความต้องการในประเทศปีนี้คาดหมายจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมจะจัดสรรงบประมาณพิเศษยางพาราผสมยางมะตอย 10,000 ล้านบาท ประมาณไตรมาสสองนี้ หรือ ใช้ยางมะตอยประมาณ 80,000-100,000 ตัน โดย TASCO มีส่วนแบ่งตลาดยางมะตอยเกรดนี้ประมาณ 60% เทียบกับยอดขายในประเทศของ TASCO ปีก่อน 490,000 ตัน  ปกติแล้วตลาดในประเทศจะเป็นตลาดที่ TASCO มีกำไรดี และ มีสัดส่วนกำไร 50-70% แม้ว่าจะมีสัดส่วนปริมาณขายเพียง 26% ปัจจุบัน TASCO ต้องนำเข้ายางมะตอยจากต่างประเทศเข้ามาประมาณเดือนละ 2 หมื่นตัน เพราะเกิดภาวะขาดแคลนในประเทศ

จากปัญหาชัพพลายน้ำมันดิบไม่สม่ำเสมอ ทำให้ปรับประมาณการกำไรลง  แต่ผลประกอบการในปี 2561 คาดจะยังเติบโตได้  ปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 22 บาท บนฐาน P/E + 1SD = 12.2 เท่า จาก 25 บาท ลดเกรดคำแนะนำลงเหลือ ถือ จาก TRADING BUY เพื่อรอดูปัจจัยทั้งลบและบวก

 

บล.เคทีบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อปี 61เพิ่มขึ้น 10-15% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (ใกล้เคียงกับที่คาดไว้ที่ 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่โตได้ดีโดยจะมาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตมากขึ้น

ในส่วนของการเป็น partner กับทาง CTBC น่าจะเห็น synergy ในช่วงปลายปี 61 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของ Trade Finance และ Digital Banking ซึ่งจะช่วยหนุนให้มีสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นได้ แต่มีปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 61 ลง 4% โดยปรับ credit cost เพิ่มขึ้นอีก 10bps จาก IFRS9 คาดว่า การเข้ามาของ CTBC จะส่งผลให้สินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องในระยะยาว

ดังนั้น จึงแนะนำ “ซื้อ” แต่เป็นการซื้อเพื่อการลงทุนในระยะยาว เพื่อรอ synergy ที่จะมีจาก CTBC ซึ่งจะเริ่มเห็นผลช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป แต่ปรับราคาเป้าหมายลงมาอยู่ที่ 1.92 บาท จากเดิมที่ 2.12 บาท จากการปรับประมาณการกำไรสุทธิลง อิง PBV ที่ 1x เทียบเท่า -1.5SD ย้อนหลัง 5 ปี

 

บล.เคทีบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV รายงานกำไรสุทธิ ไตรมาส4/60 ที่ 476 ล้านบาท ใกล้เคียงกับที่คาด โดยเติบโตได้ดี 1,053% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานกำไรที่ต่ำในปีก่อน และดีขึ้น 82% เทียบไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยได้ผลบวกจากนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาเติบโตโดดเด่น ส่งผลให้กำไรสุทธิรวมทั้งปี 60 อยู่ที่ 1,477 ล้านบาท ลดลง 21% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปี 61มีการปรับลดลงจากเดิมราว 3% เป็น 1,649 ล้านบาท จากการปรับเพิ่มคาดการณ์ต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ราว 12% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะยังคงเติบโตได้ดีราว 22.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดอัตรา load factor ยังคงอยู่ระดับสูง 87% ใกล้เคียงกับปีก่อน มีการปรับลดราคาเป้าหมายปี 61 ลงเป็น 6.20 บาท จากเดิมที่ 6.60 บาท เนื่องจากมีการปรับคาดการณ์กำไรลง และปรับลด PER เหลือ 18 เท่า จากเดิมที่ 19 เท่า จากแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่เริ่มชะลอตัวเมื่อเทียบกับในอดีต โดยยังคงคำแนะนำ ถือ

 

บล.เคทีบี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH รายงานกำไรสุทธิ ไตรมาส4/60 ที่ 1.74 พันล้านบาท ลดลง 11% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 35% เทียบไตรมาสก่อนหน้า โดยต่ำกว่าที่คาดไว้ 20% เป็นผลจากรายได้จากการโอนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะจากโครงการทาวน์เฮ้าส์ระดับล่างที่เป็นตลาดหลักของ PSH รวมทั้งยอดโอนคอนโดที่ต่ำกว่าคาด

สำหรับทั้งปี 61 มีกำไรสุทธิรวม 5.46 พันล้านบาท ลดลง 8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 61ลงจากเดิมราว 6% เป็น 6.09 พันล้านบาท จากภาพรวมการแข่งขันในตลาดระดับล่างที่ยังคงสูง แต่คาดกำไรสุทธิจะกลับมาเติบโตได้ 12% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากโครงการคอนโดใหม่เริ่มโอนมากขึ้น และจากการเปิดตัวโครงการแนวราบใหม่มากขึ้น

ทั้งนี้ ปรับลดราคาเป้าหมายลงเป็น 25.50 บาท จากเดิมที่ 27 บาท และปรับคำแนะนำ เป็น ถือ จากเดิม ซื้อ โดยยังมอง PSH เป็นหุ้นปันผลสูงราว 5% – 6% ต่อปี

 

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 4 ต่ำกว่าที่คาด 26% และต่ำกว่าที่ตลาดคาด 29% สาเหตุหลักมาจากสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจาก 2.09% ในไตรมาส 3/60 มาอยู่ที่ 2.85%

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการ Kitchen sinking โดยธนาคารได้ตั้งสำรองไว้สูงถึง 13.6 พันล้านบาท และเป็นเงินสำรองหนี้สูญถึง 5.7 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น 6bps มาอยู่ที่ 121.7% มองว่าเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับ IFRS9

ทั้งนี้ รายได้ไม่ได้แย่อย่างที่คิด โดยอัตราการปล่อยสินเชื่อขยายตัว 3.3% เทียบไตรมาสก่อนหน้า รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 24% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ NIM อ่อนตัวตามคาดจาก 3.33%  มาอยู่ที่ 3.2% สาเหตุหลักมาจากการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่ารวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา

ปรับเพิ่มประมาณการสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อของปีงบประมาณ 2561 ขึ้น 10bps เป็น 2% เพื่อสะท้อนความกดดันจาก IFRS9 คาดว่าแบงก์กรุงไทยจะต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับต่ำที่ 121% เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 141%

ปรับลดประมาณการกำไรปี 2561 ลง 2% และปรับลดราคาเป้าหมายอิง GGM จาก 19 บาท เหลือ 18.90 บาท แม้ว่าสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อจะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก แต่การใช้จ่ายของรัฐบาลอาจเป็นปัจจัยบวก เนื่องจาก KTB เป็นแบงก์รัฐในการดำเนินนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button