CHOW ลั่นปี 61 ยอดขายเหล็กพุ่ง 2.7 แสนตัน เล็งขายโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 6 MW เข้ากองทุนฯ

CHOW ลั่นปี 61 ยอดขายเหล็กพุ่ง 2.7 แสนตัน เล็งขายโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 6 MW เข้ากองทุนฯ


นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW เปิดเผย ผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ทีวีดิจิทัลช่อง 19 และสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) FM 102 MHz. ว่า ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าหมายผลิตและจำหน่ายเหล็กที่ระดับ 2.7 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ระดับ 1.5 แสนตัน หลังจากบริษัทได้มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากการกลับมาเดินเครื่องผลิตอีกครั้ง หลังหยุดเดินเครื่องไปในช่วงปี 2551

ทั้งนี้ บริษัทคาดจะมียอดขายจากธุรกิจเหล็กที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท และยอดขายจากธุรกิจไฟฟ้าที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจเหล็กมียอดขายสูง สร้างกระแสเงินสดได้มาก แต่มีมาร์จิ้นไม่สูง ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าแม้ยอดขายไม่สูงมากแต่มีมาร์จิ้นที่มีเสถียรภาพ

โดยปัจจุบันบริษัทมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) รวมทั้งสิ้น 66 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นรวม 9 โครงการ กำลังการผลิตรวม 59.03 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Rooftop) ในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 6.64 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังวางโมเดลทางธุรกิจที่จะขายโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น อีก 3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวมราว 6เมกะวัตต์ ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขายบางโครงการเข้ากองทุนฯ แล้ว

สำหรับภาระหนี้สินที่มีอยู่จำนวนมาก บริษัทมองว่ายังไม่น่ากังวลเนื่องจากสินทรัพย์ที่ลงทุนมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง ส่วนที่กู้หนี้สินระยะสั้นเพื่อลงทุน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อแล้วเสร็จ ก็จะสามารถทำเป็นเงินกู้โครงการระยะยาว (long term project finance) ที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี ซึ่งจะเป็นการรีไฟแนนซ์หนี้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ระยะยาว โดยมีสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างรายได้ที่มีเสถียรภาพ

โดย ณ สิ้นปี 60 บริษัทมีหนี้รวมประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นราว 1.4 พันล้านบาท ส่งผลให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ราว 7 เท่า ซึ่งถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากหนี้สินธุรกิจเหล็กส่วนใหญ่เป็นหนี้สินหมุนเวียน ขณะที่หนี้สินธุรกิจพลังงาน เป็นการกู้เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ขณะที่บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าในมืออยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จก็จะสามารถสร้างรายได้กลับเข้ามา

“ทางกลุ่มบริษัทได้มีการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสเถียรภาพและสามารถสร้างเงินสดผลตอบแทนให้แก่บริษัทและกลุ่มผู้ถือหุ้นได้ดี ขณะเดียวกันธุรกิจเหล็กก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยปีนี้เราได้วางแผนผลิตและจำหน่ายที่ 2.7 แสนตัน โดยมีการเซ็น MOU กับทางลูกค้าแล้ว 1 แสนตัน ซึ่งเรามองว่าจังหวะนี้สามารถเริ่มขยายกำลังการผลิต รวมถึงเก็บเกี่ยวสินทรัพย์ หรือโรงงานที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด” นายอนาวิล กล่าว

Back to top button