M เกมเดิมพันโลจิสติกส์โลก

จากกรณีบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M จัดตั้งบริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด ด้วยเงินลงทุน 1,300 ล้านบาท ด้วยการร่วมลงทุนกับ Senko Group ผู้ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ใหญ่ อันดับ 2 ในประเทศญี่ปุ่น โดย M ถือหุ้น 49.75% เริ่มดำเนินการปี 2562 เพื่อประกอบธุรกิจขนส่ง ธุรกิจให้เช่าคลังสินค้า ธุรกิจซื้อมาขายไปและธุรกิจรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

จากกรณีบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M จัดตั้งบริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด ด้วยเงินลงทุน 1,300 ล้านบาท ด้วยการร่วมลงทุนกับ Senko Group ผู้ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ใหญ่ อันดับ 2 ในประเทศญี่ปุ่น โดย M ถือหุ้น 49.75% เริ่มดำเนินการปี 2562 เพื่อประกอบธุรกิจขนส่ง ธุรกิจให้เช่าคลังสินค้า ธุรกิจซื้อมาขายไปและธุรกิจรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ

การแตกไลน์ธุรกิจของ เอ็มเคสุกี้” ครั้งนี้ ถือเป็นกลยุทธ์โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากโลจิสติกส์ เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและการควบคุม รวมทั้งการบริหารข้อมูลและธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเคลื่อนย้าย การจัดเก็บการรวบรวม การกระจายสินค้า วัตถุดิบและการบริการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและสิ่งที่ M จะได้รับจากการรุกธุรกิจใหม่นี้คือ

1) การลดต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า (Cost Efficiency)

2) ความปลอดภัยของสินค้าที่เคลื่อนย้ายในระบบโลจิสติกส์ (Security and Reliability)

3) ความสามารถในการลดระยะเวลาการจัดการด้านโลจิสติกส์ (Responsiveness)

โดย M มีแผนขยายสาขาไปยุโรป อเมริกา ในรูปแบบของแฟรนไชส์ หลังขยายสาขาไปญี่ปุ่นแล้ว 18 สาขา เป้าหมายของเอ็มเค นั่นคือแบรนด์ระดับอินเตอร์ ภายในอีก 7 ปีข้างหน้า

หัวใจของธุรกิจอาหาร คือ เรื่องความสด ทำให้ระบบการจัดการโลจิสติกส์และศูนย์การกระจายสินค้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของร้าน MK ต้องเป็นจุดความเหมาะสม ที่สามารถควบคุมด้านเวลา คุณภาพ ความปลอดภัย และต้นทุนได้

ฉะนั้นหาก “เอ็มเค” ต้องการเป็น “เอ็มเค อินเตอร์” จึงหนีไม่พ้นการเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีระบบ อาทิ 1) ต้นทุนการจัดซื้อจัดหา (Procurement Cost) 2) ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง (Inventory Carrying Cost) 3) ต้นทุนการบริหารคลังสินค้า (Warehouse management Cost) 4) ต้นทุนการจัดการขนส่งสินค้า (Transportation Cost) 5) ต้นทุนค่าขนส่งเพื่อการส่งออก (Export cost)

แน่นอนว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เช่น 1) ระยะทาง 2) กฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ 3) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 4) การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ 5) ภาวะเศรษฐกิจ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่  M ต้องพิสูจน์ในนามบริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด กันต่อไป

จากอดีตสู่ปัจจุบันของ “เอ็มเคเรสโตรองต์” เกิดจากร้านอาหารไทยเพียงคูหาเดียวย่านสยามสแควร์โดย “นางทองคำ เมฆโต” ซื้อต่อกิจการมาจาก “มาคองคิงยี” (MakongKing Yee) ชาวฮ่องกง ที่ขายกิจการย้ายครอบครัวไปตั้งรกรากที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2505

ร้านอาหาร “ป้าทองคำ” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าย่านสยามสแควร์ จนปี 2527 ช่วงที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่ง ร้านเอ็มเคสุกี้ สาขาแรก ภายใต้ชื่อ “กรีนเอ็มเค” ถือกำเนิดขึ้น เมื่อนายห้างสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ชักชวนป้าทองคำ มาเปิดร้านที่เซ็นทรัลลาดพร้าว โดยมี “ยุพิน” ลูกสาวและ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ลูกเขย เป็นหัวแรงใหญ่

หนึ่งในกลยุทธ์สู่ความสำเร็จของเอ็มเค นั่นคือ ระบบโลจิสติกส์ ที่ ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ซีอีโอใหญ่ มีลักษณะเดียวกับ “ฮับสายการบิน” กล่าวคือ สร้างศูนย์กระจายสินค้า ในจุดที่มีความเหมาะสม ที่เห็นว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ร่นระยะทางในการขนส่งสินค้าสู่สาขาให้สั้นที่สุดเพื่อความสดของอาหาร

“เหมือนฮับของสายการบิน ที่เวลาเดินทางต้องเข้าไปที่ศูนย์กลางการบิน หรือที่เรียกว่าฮับก่อน จากนั้นจึงนั่งเครื่องบินของสายการบินอื่น ๆ ไปสู่เมืองเล็ก ๆ ต่อไป”

การร่วมทุนระหว่างบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M กับ Senko Group เพื่อจัดตั้งบริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด ถือเป็นการปูทางขยายตัวสู่ต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงกับการ “อิ่มตัว” ของตลาดในประเทศ

ถือเป็นบทพิสูจน์ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” กับ “กลยุทธ์โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน” อีกครั้ง ว่าแต่เวทีนี้ใหญ่และท้าทายหลายเท่าตัวจริง ๆ ..!??

ป.ล. วานนี้มีการพูดถึงกรณี SCB แต่งตั้ง “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ขึ้นรับตำแหน่งป้ายแดงแกะกล่องอย่าง “ประธานคณะ กรรมการบริหารความเสี่ยง” ซึ่งก็เป็นที่มาของข้อมูลที่ว่า นี่คือ “มือระดับพระกาฬ” ถูกส่งตรงมาจากธปท.เพื่อเข้ามาลดสีสันและความฉูดฉาดของ “วิศวกรรมการเงิน” ใน SCB ให้น้อยลงมาหน่อย

ล่าสุด มีบุคคลร้อยท่อต่อสายตรงเข้ามายังกองบรรณาธิการ “หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ” ยืนยันว่า “แบงก์ชาติไม่ได้ส่งบุญทักษ์มาเพื่อกำกับดูแลอะไรใครที่ไหน แต่มีผู้บริหารของธนาคารเป็นผู้ชวนเข้ามาเอง”

เอ้า…! เขาว่ามาเช่นนั้น! ใครคิดเห็นอะไรอย่างไร ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล

อิ อิ อิ

Back to top button