AP ย้ำเป้ารายได้ปีนี้แตะ 2.8 หมื่นลบ. หลัง 5 เดือนแรกกวาดยอดขายทะลุ 1.4 หมื่นลบ.

AP ย้ำเป้ารายได้ปีนี้แตะ 2.81 หมื่นลบ. หลัง 5 เดือนแรกกวาดยอดขายทะลุ 1.4 หมื่นลบ. เล็งเปิด 35 โครงการใหม่ 2H61 ตุน Backlog อื้อ!


นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP เปิดเผยว่า ยอดขายในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 61) บริษัททำได้แล้ว 1.46 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 44% ของเป้าหมายยอดขายรวมที่ตั้งไว้ 3.35 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายจากโครงการแนวราบ 8.56 พันล้านบาท และยอดขายจากโครงการคอนโดมิเนียม 6.08 พันล้านบาท

โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดโครงการใหม่ไปแล้วจำนวน 7 โครงการ แบ่งเป็น โครงการแนวราบ 5 โครงการ และโครงการคอนโดมิเนียม 2 โครงการ ส่วนในเดือนมิ.ย.61 จะมีการเปิดโครงการแนวราบเพิ่มอีก 1 โครงการ ซึ่งจะทำให้ครึ่งปีแรกบริษัทมีการเปิดโครงการใหม่รวมทั้งสิ้น 8 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 1.03 หมื่นล้านบาท จากแผนเปิดโครงการใหม่ในปีนี้รวม 43 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 6.47 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทเชื่อมั่นว่ายอดขายในครึ่งปีหลังจะทำได้สูงกว่าครึ่งปีแรก จากจำนวนการเปิดโครงการที่สูงถึง 35 โครงการ มูลค่าโครงการวม 5.43 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 3 โครงการ มูลค่ารวม 2.04 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีแผนการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในช่วงไตรมาส 3/61 จำนวน 1 โครงการ คือ LIFE LADPAO VALLEY ส่วนไตรมาส 4/61 จะเปิด 2 โครงการ คือ THE ADDRESS SIAM-RATCHATHEWI และ LIFE ASOKE HYPE ซึ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียมร่วมทุนระหว่างเอพีและมิตซูบิชิ จิโช เรสซิเดนซ์ (บริษัทในเครือมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป (MECG) ทั้งหมด

ด้าน นายภมร ประเสริฐสรรค์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจแนวราบ AP เปิดเผยว่า แผนการเปิดโครงการแนวราบในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะมีจำนวนมากถึง 32 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3.39 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น บ้านเดี่ยว 15 โครงการ มูลค่า 1.86 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นเจาะกลุ่มตลาดครอบครัวคนเมือง ประกอบกับทาวน์โฮมที่จะเปิดใหม่อีก 17 โครงการ มูลค่า 1.53 หมื่นล้านบาท ราคาเฉลี่ย 2-10 ล้านบาท

โดยปัจจุบันบ้านกลางเมืองจากเอพีถือครองส่วนแบ่งตลาดทาวน์โฮม 3 ชั้นมากสุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งบริษัทได้ต่อยอดความชำนาญไปสู่การพัฒนาทาวน์โฮม 2 ชั้น แบรนด์พลีโน่ (PLENO) ซึ่งจะเป็นแบรนด์เด่นของกลุ่มทาวน์โฮมต่อไป ซึ่งการรุกตลาดแนวราบนั้นจะการขยายทั้งตลาดเดิมที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้วในทำเลต่างๆ รวมถึงการสร้างฐานลูกค้าใหม่ในทำเลอื่นๆ

ด้านภาพรวมตลาดแนวราบในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งอายุของคนซื้อที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยจากข้อมูลของบริษัทย้อนหลัง 5 ปี กลุ่มคนที่ตัดสินใจซื้อมีอายุเฉลี่ยระหว่าง 18-35 ปี มากถึง 60% รวมถึงต้นทุนในการสรรหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการที่ถือเป็นตัวกรองสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดแนวราบเหลือน้อยลง

โดยที่ผ่านมาสินค้าแนวราบของบริษัทถือว่าประสบความสำเร็จในสัดส่วนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในทุกไตรมาส แม้แต่ยอดขายเดือนเม.ย. ที่ถือเป็นเดือนเทศกาลแต่สามารถสร้างยอดขายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 400 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ทำยอดขายไปได้เฉลี่ยประมาณ 350-400 ล้านบาท/สัปดาห์ ทำให้บริษัทเชื่อว่าจะสามารถทำยอดขายแนวราบได้เกินเป้าหมายอย่างแน่นอน

สำหรับภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมดีมานด์ให้การตอบรับดี โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมระดับกลางบนถึงไฮเอนท์ ซึ่งจากยอดขายที่ผ่านมาประกอบกับการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นตัวชี้วัดให้เห็นถึงกำลังซื้อที่ยังคงมีอยู่ของสินค้าระดับกลางบนได้อย่างชัดเจน

ขณะที่อัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะปัจจุบันบริษัทไม่ได้มีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในระดับล่าง หรือราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทำให้มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อทรงตัวอยู่ที่ 12% และธนาคารพาณิชย์ต่างๆเริ่มมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มรายได้ไนครึ่งปีหลังบริษัทคาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการโอนโครงการเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาส 4/61 ที่จะมีการโครงการใหม่เข้ามา 2 โครงการ คือ RHYTHM เอกมัย มูลค่า 2.7 พันล้านบาท ที่ขายได้ 100% และ ASPIRE สาทร-ราชพฤกษ์ มูลค่า 3 พันล้านบาท ขายได้ 30% ประกอบกับยังมีการโอนโครงการ VITTORIO มูลค่า 3.2 พันล้านบาท ซึ่งจะเริ่มโอนในช่วงเดือนก.ค.ที่จะถึงนี้ ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4/61

ทั้งนี้บริษัทคาดว่าโครงการ VITTORIO ซึ่งเป็นโครงการไฮเอนด์จะปิดการขายได้ภายในสิ้นปี 62 ส่วนในครึ่งปีแรกมีโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ที่เริ่มโอนในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา 1 โครงการ คือ โครงการ LIFE ASOKE มูลค่า 7.5 พันล้านบาท โดยที่ปัจจุบันบริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา (ongoing projects) จำนวน 23 โครงการ มูลค่าคงเหลือขายรวม 1.21 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการแนวราบที่มีการเปิดโครงการมากในช่วงครึ่งปีหลังที่จะมีการทยอยรับรู้รายได้เข้ามาเสริม รวมถึงการรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ในปัจจุบันที่มีอยู่ 4.94 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น Backlog จากโครงการแนวราบ 7.63 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ทั้งหมด และ Backlog ของคอนโดมิเนียม 4.18 หมื่นล้านบาท จะทยอยรับรู้ในปีนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ไปจนถึงปี 65

โดยที่ในปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 2.81 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาส 1/61 ทำรายได้ไปแล้ว 6.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 23% ของเป้าหมายรายได้ที่ตั้งไว้

ส่วนงบซื้อที่ดินในปีนี้บริษัทตั้งไว้ที่ 8.5 พันล้านบาท โดยปัจจุบันได้ใช้ไปแล้ว 3.7 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อที่ดินโครงการแนวราบแล้วนำมาพัฒนาทันที และมีการซื้อที่ดินรองรับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในปีต่อไปเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าการสร้าง ‘กระบวนการ’ คิดเพื่อเข้าถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อนำไปในสู่วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาการพัฒนาสินค้าทั้งแนวราบและแนวสูง ซึ่งได้นำแนวคิด STANFORD DESIGN THINKING มาใช้เพื่อค้นหาความต้องการแฝงของผู้บริโภคในอนาคต

โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่ทีมคอนโดมิเนียมได้นำมาประยุกต์ใช้ให้เห็นผลและเกิดขึ้นจริงอย่างเร่งด่วนนั้น คือ การปรับกระบวนการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ด้วยการนำเทคโนโลยี AI BIM (Artificial Intelligence Building Information Modeling) เทคโนโลยีการออกแบบงานก่อสร้างอาคารสูงอัจฉริยะ 7 มิติ ซึ่งคิดค้นขึ้นโดย Prof. จากมหาวิทยาลัย Stanford มาใช้อย่างครบวงจรเป็นรายแรกในประเทศไทย

สำหรับจุดต่างของ AI BIM คือ มิติที่ 7 ที่คลอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารจัดการอาคาร (AI BIM for Facility Management) ที่จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการสืบค้นงานระบบและงานโครงสร้างทั้งหมด เพื่อการซ่อมบำรุงและรักษาสภาพของอาคารให้สมบูรณ์อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ

Back to top button