กกบ.เลื่อนหารือ IFRS9 กลุ่มแบงก์รอลุ้นอีกรอบ 15 ก.ค.นี้

กกบ.เลื่อนประชุมเคาะใช้ IFRS9 กลุ่มแบงก์รอลุ้นอีกรอบ 15-17 ก.ค.61


แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนกำหนดการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) จากในวันนี้ (20 มิ.ย.2561) ออกไปเป็นช่วงเดือนก.ค. โดยคาดว่าจะมีการประชุมเพื่อหารือในช่วงวันที่ 15-17 ก.ค.61 เนื่องจากปลัดกระทรวงพาณิชย์ติดภารกิจในสัปดาห์นี้ ขณะที่นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายกสภาวิชาชีพบัญชีฯ ติดภาระกิจในสัปดาห์หน้า

อนึ่งก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการจะมีการประชุมศึกษามาตรการเพื่อลดผลกระทบจะรายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุม เพื่อกำหนดเลื่อนวันบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไป หลังจากที่มีการเสนอให้เลื่อนใช้มาตรการดังกล่าวออกไป 1 ปี จากเดิมบังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2562 เป็นต้นไป ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอให้เลื่อนออกไปเป็นปี 2565

 

ด้าน นางอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า กรณีที่ กกร.เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS 9 น่าจะเป็นเซ็นติเมนต์บวกต่อกลุ่มแบงก์และนอนแบงก์ ให้มีเวลาเตรียมการไปอีก 1 ปี ซึ่งความเป็นไปได้ขณะนี้ คือ ให้เลื่อนไปเป็นต้นปี 2563 ไม่น่าจะถึงต้นปี 2565

โดยข้อมูลล่าสุดจากการประชุมนักวิเคราะห์ของแบงก์เกือบทุกแห่ง ตอบตรงกัน คือ ยังเดินหน้าดำเนินการตาม IFRS 9 ตามกรอบเดิมต่อไป แม้อาจเลื่อนบังคับใช้ก็ตาม โดยจะไม่ผ่อนเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้ฯ ภายใน และไม่ปรับเป้าหมายของค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (credit cost) ที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ธนาคารส่วนใหญ่เลือกบันทึกผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการใช้มาตรฐานดังกล่าวในคราวเดียว ไม่เลือกทยอยบันทึกใน 3 ปีข้างหน้า เพราะต้องเปิดเผยผลกระทบทั้งหมด ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

“เรื่องการเลื่อนเวลาใช้ IFRS 9 มีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จากข้อมูลที่ได้ แบงก์ยังเดินหน้าตามมาตรฐาน IFRS 9 ประเด็นการตั้งสำรองหนี้ฯ ระดับสูง เชื่อว่ายังเข้มข้นต่อไป และไม่ได้มีผลต่อประมาณการผลการดำเนินงานปี 2561-2562” นางอุษณีย์ กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า IFRS 9 มีผลกระทบมาก ทำให้สำรองหนี้ฯ สูงขึ้น และยุ่งยากในการเก็บสถิติข้อมูลของลูกหนี้รายบัญชี แต่ธนาคารที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการไปมากแล้วเช่นกัน

Back to top button