FSMART บุญเติม..เริ่มเต็ม..!?

แม้ว่าช่วงนี้ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART อยู่ระหว่างโครงการซื้อหุ้นคืนวงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท จำนวนไม่เกิน 20 ล้านหุ้น หรือ 2.50% (วันที่ 18 เม.ย.-18 ต.ค. 2561) จากวันนั้นถึงวันนี้ FSMART ซื้อหุ้นคืนไปแล้ว 19.96 ล้านหุ้น หรือ 2.49% รวมเป็นเงิน 187.02 ล้านบาท


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

แม้ว่าช่วงนี้ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART อยู่ระหว่างโครงการซื้อหุ้นคืนวงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท จำนวนไม่เกิน 20 ล้านหุ้น หรือ 2.50% (วันที่ 18 เม.ย.-18 ต.ค. 2561) จากวันนั้นถึงวันนี้ FSMART ซื้อหุ้นคืนไปแล้ว 19.96 ล้านหุ้น หรือ 2.49% รวมเป็นเงิน 187.02 ล้านบาท

เป็นที่สนใจว่า “การซื้อหุ้นคืน” ดังกล่าว เสมือนเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” เลยก็ว่าได้ หากย้อนไปวันที่ 29 มี.ค. 2561 ก่อนบอร์ด FSMART ลงมติซื้อหุ้นเพียง 1 วัน (บอร์ดมีมติซื้อหุ้นคืน 30 มี.ค. 2561) ราคาหุ้น FSMART ปิดที่ระดับ 9.80 บาท เป็นราคาปิดที่ทำสถิติต่ำสุด (นิวโลว์) รอบกว่า 3 ปี

หลังจากใช้เงินกว่า 187 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นคืนดังกล่าว และใช้เวลาซื้อหุ้นไปกว่า 2 เดือน ปรากฏว่าราคาหุ้นไม่ได้ดีขึ้นเลย ยิ่งเลวร้ายกว่านั้นราคาหุ้น FSMART กลับปรับตัวต่ำกว่าราคาในวันสุดท้าย (29 มี.ค. 2561) ก่อนบอร์ดมีมติซื้อหุ้นคืนซะด้วยซ้ำไป นั่นเท่ากับว่าการซื้อหุ้นคืนครั้งนี้ ไม่ได้ช่วยให้ราคาหุ้น FSMART ดีขึ้นเลย..!!

ที่สำคัญอีก 6 เดือนข้างหน้า ต้องจับตาดูกันต่อว่า FSMART จะทำอย่างไรกับหุ้นที่ซื้อคืน..จะเลือกวิธีขายในกระดานแน่นอนว่ากระทบราคาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือใช้วิธีการลดทุนจดทะเบียนด้วยการตัดหุ้นที่ซื้อคืนทิ้งไป เป็นวิธีเดียวกับ JAS ที่เคยใช้วิธีนี้มาแล้วกับโครงการซื้อหุ้นคืน 5 รอบที่ผ่านมา..!?

สำหรับธุรกิจ FSMART นั่นคือตู้เติมเงินที่ชื่อว่า “บุญเติม” ถือว่าได้รับแรงกดดันต่อผลกระทบเชิงลบ จากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน เติมเงิน ผ่านช่องทาง Mobile Banking และประเด็น Banking Agent แม้เบื้องต้นถูกมองเป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย FSMART เป็นระดับรากหญ้ารายได้ไม่สูงนัก

แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ ที่สำคัญผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคและสินค้าบริการต่าง ๆ เริ่มเข้าถึงลูกค้าโดยตรงมีการธุรกรรมทางการเงินผ่าน  Application ของตัวเอง จึงเป็นแรงกดดันต่อมาร์จิ้นของ FSMART ในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว

ขณะที่ผู้บริหาร FSMART เริ่มมีการปรับแผนโดยเฉพาะปี 2561 จะไม่มีการเพิ่ม “ตู้บุญเติม” เพราะต้องการบริหารจัดการตู้บุญเติมที่มีประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมค่อนข้างต่ำกว่า 30,000 ตู้ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดการให้บริการ “ตู้บุญเติม” เพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจุบันมีอยู่ 130,000 ตู้

พร้อมกันนี้ FSMART อยู่ระหว่างพิจารณาโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อรุกตลาดต่างประเทศ เริ่มจากประเทศเมียนมา โดยรูปแบบการลงทุนที่มีความเป็นไปได้ 2 แนวทาง นั่นคือ 1) การขายตู้บุญเติมออกไปสู่ต่างประเทศด้วยตัวเอง 2) การร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อรุกการให้บริการตู้บุญเติมในประเทศดังกล่าว แต่เรื่องนี้ต้องรอความชัดเจนระยะถัดไป..!?

อีกจุดสำคัญ FSMART มีการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ รูปแบบแอปพลิเคชัน กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนมือถือ (E-wallet) ด้วย Be Wallet (มีบริการเช่นเดียวกับตู้บุญเติม) ธุรกิจต่อยอดสำหรับกลุ่มที่ใช้สมาร์ตโฟน มีเป้าหมายผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย ในปี 2561

การเปลี่ยนแปลงของ FSMART ดังกล่าว ถูกตั้งคำถามกันอย่างกว้างขวางว่า “ช้าเกินไปหรือไม่..! เพราะเชื่อกันว่า “ยุคทองตู้บุญเติม” ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้บริหาร FSMART จะตีโจทย์ให้แตกและแก้โจทย์ธุรกิจให้ได้ เพื่อไม่ให้ “ตู้บุญเติม..เริ่มเต็ม.!?อย่างที่นักลงทุนหลายคนเป็นห่วง..!??

…อิ อิ อิ…

Back to top button