นโยบายเชิงมายากล

เรื่องประชานิยมหรือไม่ประชานิยม ผู้มีอำนาจแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็พยายามจะอธิบายเนื้อหาหรือความหมายให้มีความแตกต่างกัน แต่เวลาผ่านมากว่า 16 ปี ก็พอจะมีบทพิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลไหนก็ต้องใช้นโยบายประชานิยมเหมือนกันหมดแหละ


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

เรื่องประชานิยมหรือไม่ประชานิยม ผู้มีอำนาจแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็พยายามจะอธิบายเนื้อหาหรือความหมายให้มีความแตกต่างกัน แต่เวลาผ่านมากว่า 16 ปี ก็พอจะมีบทพิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลไหนก็ต้องใช้นโยบายประชานิยมเหมือนกันหมดแหละ

เพียงแต่เรียกชื่อต่างกันออกไป สมัยทักษิณ พรรคไทยรักไทย ก็เรียกขานเต็มปากเต็มคำว่าเป็นนโยบายประชานิยม พอสมัยอภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ก็เรียก “ไทยเข้มแข็ง”

แต่พอยุคประยุทธ์ คสช.ก็เรียก “ประชารัฐ”

ใครได้รับการจดจำผลงานประชานิยมที่ประชาชนชื่นชอบมากน้อยต่างกันไป ผมก็ว่าเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วนะ ส่วน “ประชารัฐ คสช.” ผมก็ว่าต้องรออีกหน่อย เพื่อให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เช่นกัน

หากจะอวยกันเอง ก็คงไม่ศักดิ์สิทธิ์หรอก ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ก็เป็นธรรมดา รัฐบาลคสช.โจมตีรัฐบาลเก่าเอาไว้เยอะ ก็ต้องหาความแปลกใหม่ทางนโยบายที่ไม่ซ้ำรอยกับรัฐบาลเดิม ๆ ไม่เช่นนั้นก็จะโดนย้อนรอย “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” ได้ง่าย ๆ

แต่บางเรื่องนโยบายก็หนีไม่พ้นกับนโยบายรัฐบาลเดิมเหมือนกัน อาทิ กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค, โอท็อป ฯลฯ ก็ต้องฝืน ๆ “ตีเนียน” กันไป แล้วพยายามชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ความยั่งยืนกว่ากัน

ยั่งยืนกว่ากันอย่างไรก็สุดแท้แต่การประดิษฐ์ถ้อยคำอธิบายกันไป

เมื่อต้นปี 61 ที่ผ่านมานี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศขึงขังราวกับทำศึกสงครามว่า “คนจนในประเทศไทยจะหมดสิ้นลงในปี 61 นี้”

เล่นเอาฮือฮา !  ว่าความยากจนจะหมดสิ้นไปจากประเทศไทยแล้วหรือ

วิธีการก็คือ เอาคนจนมาลงทะเบียน แล้วเพิ่มเงินอุดหนุนรายเดือนเข้าไปในบัตรสงเคราะห์ แถมด้วยเงื่อนไขการฝึกอบรมอาชีพ ซึ่งคาดหวังสัมฤทธิผลไปถึงผู้ที่ผ่านการอบรม จะมีอาชีพรายได้ และหลุดพ้นจากปลักตมความยากจนได้ภายใน 1 ปี

เขาจะวัดผล KPI ความสำเร็จกันอย่างไรก็น่าสนใจติดตามดูนะ

อีกโครงการหนึ่งที่ตีปีบกันโครมครามแต่ตอนนี้หายจ้อยไปแล้วนั่นก็คือ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน พล็อตจุดกันไว้ 10 จังหวัดชายแดน

ตั้งใจจะพลิกแผ่นดินชายแดนให้รุ่งเรืองสว่างไสว เล่นเอาคนไปกว้านซื้อที่ดินล่วงหน้ากันพรึ่บพรั่บเลยทีเดียว แต่ก็คงเดินหน้าไปต่อไม่ได้หรอก เนื่องจากเป็นโครงการของคนช่างคิดช่างฝันในห้องแอร์โดยแท้จริง ซึ่งโลกแห่งความเป็นจริง มันไม่ใช่ !

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) นี่ก็ตอนแรกก็สับสน คิดว่าโครงการใหม่ที่ไหน

ที่แท้จริงก็คืออีสเทิร์น ซีบอร์ดภาคขยายในพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยองนั่นแหละ หาใช่โครงการใหม่ที่คิดริเริ่มใหม่ขึ้นมาแต่อย่างใดไม่

โรงงานเก่า อาจจะขยายการลงทุนตามวงรอบอยู่แล้วอย่างเช่นกลุ่มปตท.ก็ได้ และก็อาจจะมีผู้ลงทุนใหม่เข้ามาในพื้นที่อีสเทิร์น ซีบอร์ดอยู่บ้าง แต่ก็เหมารวมเป็นผลงานของอีอีซีไปหมด

อันนี้เป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยหวังผลทางการตลาดและความนิยมทางการเมืองไปด้วยโดยแน่ชัด

แต่ที่สำคัญนั่นก็คือการประเคนสิทธิพิเศษแก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติอย่างจุใจชนิดทิ้งห่างจากคู่แข่งในชาติอาเซียนด้วยกันอย่างสุดกู่

อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 15 ปี (ของเดิม 8 ปี), การยกเว้นภาษีเครื่องจักร, การให้สิทธิพิเศษต่างชาติถือครองที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ได้ 99 ปี, สิทธิพิเศษในการเข้าออกและพำนักในประเทศของผู้ลงทุนและครอบครัวที่มากกว่าระบบปกติ และการเปลี่ยนสีผังเมืองให้รองรับอุตสาหกรรมได้หมด

จูงใจกันซะมากมายขนาดนี้ ต่างชาติไม่เร่งเข้ามาขุดทองในอีอีซี ก็ต้องพิจารณาทบทวนตัวเองกันยกใหญ่แล้วล่ะ

เราคงต้องอยู่ในนโยบายเศรษฐกิจเชิงมายากลอย่างนี้ต่อไปอีกนาน เพราะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ยังชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา

Back to top button