นักลงทุนแห่เก็บ AKR ดันหุ้นดีดบวก 10% หลังราคารูดหนัก 3 วันติด

นักลงทุนแห่เก็บ AKR ดันหุ้นดีดบวก 10% หลังราคารูดหนัก 3 วันติด ล่าสุด ณ 10.32 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 1.19 บาท บวก 0.11 หรือ 10.19% สูงสุดที่ระดับ 1.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.12 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 83.45 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ AKR ล่าสุด ณ 10.32 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 1.19 บาท บวก 0.11 หรือ 10.19% สูงสุดที่ระดับ 1.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.12 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 83.45 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ราคาหุ้น AKR ปรับตัวลดลงอย่างหนัก 3 วันต่อเนื่อง นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.72 บาท เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2561 คิดเป็นการปรับตัวลดลงถึง 30.81%

อนึ่งก่อนหน้านี้ นายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการ AKR กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 15-20% หรือไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.7 พันล้านบาท โดยจะเป็นการเติบโตจากธุรกิจหลักคือผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า ที่ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างรายต่าง ๆ และปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับโครงการใหญ่มูลค่าราว 100 ล้านบาท คาดว่าจะชัดเจนภายในช่วงไตรมาส 2/61

นอกจากนี้ยังคาดหวังจะมียอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าตามโครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ที่จะต้องทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปีนี้ โดยคาดว่าจะสามารถขายหม้อแปลงไฟฟ้าเข้าไปได้ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยชัดเจนและขายตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 70 ล้านบาท โดยในช่วงปลายปี 60 บริษัทได้รับงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของโตโยต้า มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ที่จะรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ในช่วงไตรมาส 2/61 และปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อรับงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของโรงงานอุตสาหกรรมอีกหลายแห่งมูลค่ากว่า 500-600 ล้านบาท จะทยอยรู้ผลการเจรจาตั้งแต่ปัจจุบันถึงปลายปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้มีงานในมือ (Backlog) แล้ว 50-60 ล้านบาท จะรับรู้รายได้เข้ามาทั้งหมดในปีนี้

สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 61 จะมาจากการการผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ 80% และส่วนที่เหลือจะมาจากจำหน่ายและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 20% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิของบริษัทในปีนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 5% สูงกว่าปีก่อนที่ 2.52% จากการบริหารจัดการต้นทุนต่าง ๆ เช่น่ การลงทุนด้านเครื่องจักรให้เป็นระบบอัตโนมัติเพื่อลดจำนวนคน

โดยในช่วง 3 ปี (ปี 61-63) บริษัทตั้งเป้าที่จะใช้เครื่องจักรทดแทนคนมากกว่า 10-15% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ 3-5% ต่อปี ซึ่งในปีนี้บริษัทเตรียมงบลงทุนเพื่อใช้ในการลงทุนเครื่องจักรอีกราว 10 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/61 มองว่าผลประกอบการทั้งในแง่ของรายได้และกำไร จะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/61 เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากโตโยต้า และโครงการอื่น ๆ รวมไปถึงคำสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าที่สูงขึ้นด้วย

 

 

Back to top button