SAMART บวกเกือบ 3% หลังจับมือ “CAT” ขยายโครงข่ายวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลเพิ่ม 1,000 สถานี

SAMART บวกเกือบ 3% หลังจับมือ "CAT" ขยายโครงข่ายวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลเพิ่ม 1,000 สถานี โดย ณ เวลา 15.34 น. อยู่ที่ระดับ 7.25 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 2.84% สูงสุดที่ระดับ 7.35 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 7.05 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 32.35 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART ล่าสุด ณ เวลา 15.34 น. อยู่ที่ระดับ 7.25 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 2.84% สูงสุดที่ระดับ 7.35 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 7.05 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 32.35 ล้านบาท

นายสงบ สังขจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มปฏิบัติการสื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า CAT อยู่ระหว่างขยายพื้นที่ให้บริการ Digital Trunked Radio System (DTRS) บนคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ที่ CAT ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้บริการกับผู้ใช้บริการทั่วไปเพียงรายเดียวในประเทศไทย

โดยล่าสุดได้ร่วมกับ SISC Consortium ของกลุ่มบมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART ขยายโครงข่าย DTRS เพิ่มอีกจำนวน 1,000 สถานี และจะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 แสนรายทั่วประเทศ ภายในปี 2562 เพื่อให้สามารถรองรับการใช้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ บริการ DTRS จะเหมาะกับการใช้งานติดต่อสื่อสารแบบกลุ่ม โดยสามารถกระจายข่าวสารระหว่างผู้ใช้งานในกลุ่มเดียวกันหรือข้ามกลุ่มกันได้ ทำให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลข่าวสารเดียวกันและพร้อมกันทันทีในเวลาเดียวกัน ซึ่ง CAT มั่นใจว่ามีผู้ต้องการใช้บริการ DTRS อีกเป็นจำนวนมากเมื่อขยายโครงข่ายเรียบร้อยแล้ว

อนึ่ง DTRS หรือ วิทยุสื่อสารในระบบดิจิทัล เป็นระบบสื่อสารที่มีความปลอดภัยสูงโดยการรับส่งข้อมูลต่าง ๆ จะมีการกำหนดช่องสัญญาณเฉพาะและสามารถเข้ารหัสข้อมูลเพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น ให้ความสะดวกในการใช้งานได้แบบ One to Many โดยสามารถจัดกลุ่มสื่อสารทั้งกลุ่มใหญ่ หรือกลุ่มย่อย หรือแม้การจัดช่องเพื่อการสื่อสารเฉพาะบุคคล  โครงข่ายระบบ DTRS นอกจากนำมาใช้งานทั่วๆ ไปในสภาวะปกติแล้ว ยังสามารถนำมาใช้งานได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและจากภัยพิบัติต่าง ๆ อีกด้วย

สำหรับตัวเครื่องวิทยุยังมีคุณสมบัติที่มีความทนทานสูงและบางรุ่นเป็นแบบป้องกันการเกิดประกายไฟจึงเหมาะสมกับการใช้งานภาคสนาม หรือในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องมีระบบสื่อสารที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน นอกจากนั้น DTRS ยังมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ส่งข้อมูลแยกเฉพาะกลุ่ม มี GPS แจ้งระบุตำแหน่งและความเร็วในการเคลื่อนที่ของตัวเครื่องแบบ Real Time เพื่อใช้ในการควบคุมและแจ้งเตือน รวมถึงคุณสมบัติ Man Down เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ที่ปฏิบัติงานในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ เป็นต้น

สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการระบบ DTRS ที่ CAT ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน ขนส่ง หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย สนามกีฬา(บุรีรัมย์) และการเช่าใช้งานเป็นครั้งคราวในภารกิจต่างๆ เป็นต้น หลังจาก CAT ขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว จะทำให้การขยายการใช้บริการ DTRS ทำได้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

อีกทั้ง คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการทั้งองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับโลจิสติก นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ศูนย์กู้ภัยและบริษัทรักษาความปลอดภัย เป็นต้น  ซึง CAT มั่นใจว่าองค์กรเหล่านี้ยังมีความต้องการและจำเป็นต้องใช้งานวิทยุสื่อสารระบบ DTRS อีกเป็นจำนวนมาก

“การที่ CAT ร่วมมือกับ SISC Consortium จะช่วยเร่งการขยายเครือข่ายวิทยุสื่อสารระบบ DTRS  โดยติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับโครงข่ายเดิมที่มีอยู่แล้วทำให้การขยายโครงข่ายรวดเร็ว เพื่อการพัฒนาระบบ ได้อย่างทั่วถึงในระดับตำบลทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถขยายสถานีได้ครบ 1000 สถานี ภายในกลางปี 2562 อย่างแน่นอน พร้อมกับได้เตรียมทีมงานทั้งด้านดูแลเทคนิคและการบริการหลังการขาย ไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละองค์กรที่มีความหลากหลาย” นายสงบ กล่าว

Back to top button