PSTCลุ้นโครงการท่อส่งน้ำมันภาคอีสานผ่านEIAต้นปีหน้า ปักธงพร้อมนำ“บิ๊กแก๊ส”เข้าตลาดฯปี63

PSTC ปักธงรายได้ปีนี้โต 200% ลุ้นผลท่อส่งน้ำมันภาคอีสานผ่าน EIA ต้นปีหน้า เปิดทางพันธมิตรรายใหญ่ในประเทศ 2-3 รายร่วมทุน พร้อมนำ “บิ๊กแก๊ส” เข้าตลาดปี 63


 นายภาณุ ศีติสาร ประธานกรรมการ บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการท่อส่งน้ำมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือระยะทาง 342 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) หลังจากที่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว คาดว่าในขั้นตอนของการพิจารณา EIA จะใช้ระยะเวลาราว 4-6 เดือน หลังจากที่บริษัทได้ยื่นไปเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี 62

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้รับ EIA แล้ว บริษัทจะนำแผนการลงทุนดังกล่าวเข้าเสนอต่อที่ประชุมเพื่อถือหุ้นในช่วงเดือน มี.ค.62 เพื่อขออนุมัติเริ่มลงทุนโครงการดังกล่าว

สำหรับการลงทุนโครงการท่อส่งน้ำมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 342 กิโลเมตรเป็นการลงทุนของบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TNP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท บิ๊กแก๊ส เทคโนโลยี จำกัด (BGT) ซึ่ง PSTC ถือหุ้นใน BGT สัดส่วน 51% ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ เงินกู้ยืมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องใช้วัสดุจากจีนในสัดส่วน 35% และเงินที่ได้รับจากการร่วมทุนกับพันธมิตรรายอื่นๆ

โดย ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมทุนโครงการดังกล่าว 2-3 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศ คาดว่าจะสามารถสรุปการร่วมทุนได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ โดยประเมินมูลค่าลงทุนว่าจะต่ำกว่าโครงการท่อส่งน้ำมันภาคเหนือ ระยะทาง 500 กิโลเมตร ที่มีมูลค่า 9 พันล้านบาท คาดว่าโครงการนี้จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 64 และจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 65 ประเมินรายได้จากการให้บริการส่งน้ำมันผ่านท่ออยู่ที่ 1 พันล้านบาท/ปี

ด้าน นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSTC กล่าวว่า บริษัทมั่นใจรายได้ในปีนี้จะเติบโตได้ 200% ตามเป้าหมาย โดยที่มีปัจจัยสนับสนุนมาจากธุรกิจของ BGT ที่รายได้ในปีนี้เติบโต 100% หรืออยู่ที่ 2.4 พันล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท และในไตรมาส 4/61 บริษัทจะมีรายได้เพิ่มจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งจะมีกำลังการผลิตที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเข้ามาอีก 5.6 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์

ขณะนี้บริษัทมีใบอนุญาตขายไฟฟ้า (PPA) รวมทั้งสิ้น 70 เมกะวัตต์ โดยสิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตที่ PPA แล้ว 35.6 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะทยอย COD ไปจนครบในช่วงปี 64 พร้อมตั้งเป้ามี PPA เพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ภายในปี 64 โดยบริษัทยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินในเวียดนาม กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ที่ได้เซ็น MOU ไว้แล้วเข้ามาเป็นส่วนเสริม แต่ไม่เร่งรีบในการลงทุน เพราะจะเน้นการลงทุนในโครงการท่อส่งน้ำมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 342 กิโลเมตรให้เกิดขึ้นก่อน

ส่วนธุรกิจออกแบบ จำหน่าย และติดตั้งระบบไฟฟ้า ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 200-300 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับตั้งแต่ไตรมาส 3/61 ไปจนถึงต้นปี 62 และเตรียมที่จะเข้าประมูลงานใหม่ในช่วงไตรมาส 4/61 มูลค่างานรวม 2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ งานโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐเฟส 2 มูลค่างาน 1 หมื่นล้านบาท คาดหวังได้งานราว 500 ล้านบาท และงานโครงการของหน่วยงานราชการ กระทรวงพลังงาน และรัฐวิสาหกิจ มูลค่างาน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทจะเข้าไปประมูลงานในส่วนมูลค่า 1 พันล้านบาท ซึ่งคาดหวังให้ได้รับงานมากที่สุด

ทั้งนี้ ที่มาของรายได้บริษัทในปีนี้แบ่งเป็น สัดส่วนรายได้จากธุรกิจออกแบบ จำหน่าย และติดตั้งระบบไฟฟ้า 20% ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า สัดส่วน 35-40% และสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ BGT ที่ 40% โดยที่สัดส่วนรายได้จะอยู่ที่ระดับดังกล่าวต่อเนื่อง

โดยบริษัทยังมีแผนการนำ BGT เข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในช่วงปี 63เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ลดภาระหนี้สิน โดยมีบล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และคาดว่าจะเริ่มขั้นตอนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงกลางปี 62

อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาออกหุ้นกู้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยมีวงเงินเหลืออยู่อีก 1 พันล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 1.5 พันล้าน โดยได้ออกและเสนอขายไปแล้ว 500 ล้านบาท

Back to top button