ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง VCOM-“ทีโอที” จ่อหลุดคดี “เทเลเมติคส์” ร้องเอาผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง VCOM-"ทีโอที" จ่อหลุดคดี "เทเลเมติคส์" ร้องเอาผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์


บริษัท วินท์คอม เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ VCOM ระบุว่า ตามที่ บริษัท เทเลเมติคส์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท (จำเลยที่ 1-5) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (จำเลยที่ 6 – 10) ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 โดยไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย ต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4184/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อ.954/2559  ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นข้อพิพาททางกฎหมายที่ยังไม่สิ้นสุด

โดยเป็นคดีที่เป็นผลจากการประกอบธุรกิจปกติของบริษัท และอาจมีผลกระทบด้านลบต่อสินทรัพย์ของบริษัทที่มีจำนวนสูงกว่าร้อยละ 5 ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทตามงบการเงินสำหรับรอบระยะบัญชี สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 นั้น

ล่าสุด วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2561) ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น กล่าวคือ ยกฟ้องให้จำเลยทั้ง 10 ไม่มีความผิด ทั้งนี้หาก เทเลเมติคส์ ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา คดีดังกล่าวจะถึงที่สุดในชั้นศาลอุทธรณ์ทันที หากมีความคืบหน้าประการใดบริษัทจะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

อนึ่งการฟ้องร้องดังกล่าวสืบเนื่องจาก ในช่วงเดือนธันวาคม 2546 – มกราคม 2547 เทเลเมติคส์ ได้ซื้อระบบคอมพิวเตอร์หน่วยเก็บข้อมูล พร้อมทั้งซื้อบริการบำรุงรักษา (MA) จากบริษัท โดยบริษัทได้นำอุปกรณ์ไปติดตั้งที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (“บมจ.ทีโอที”) (ในฐานะผู้เช่า) ซึ่งเป็นคู่สัญญากับเทเลเมติคส์ ในการเช่าระบบใบแจ้งหนี้และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้โทรศัพท์ ออกใบแจ้งหนี้ บรรจุซองใบแจ้งหนี้ให้กับลูกค้าผู้ใช้โทรศัพท์ของ บมจ.ทีโอที ในแต่ละเดือน อายุสัญญาเช่า 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2552 บมจ.ทีโอที ได้มีหนังสือถึงบริษัท ให้เข้าทำการตรวจสอบระบบใบแจ้งหนี้ เนื่องจากระบบเกิดเหตุขัดข้อง พนักงานของบริษัทจึงได้เข้าไปทำการตรวจสอบเหตุขัดข้อง ให้คำแนะนำ และประชุมร่วมกับพนักงานของ บมจ.ทีโอที ถึงวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 พนักงานของ บมจ.ทีโอที ได้ดำเนินการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรหัสผ่านขั้นสูงสุด (Root Password) ของระบบคอมพิวเตอร์ของระบบใบแจ้งหนี้ ตามขั้นตอนที่ได้มีการประชุมร่วมกัน และได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวให้ เทเลเมติคส์ ทราบตามวิธีการปฏิบัติปกติ

การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น นำไปสู่การฟ้องร้องของเทเลเมติคส์ โดยเทเลเมติคส์ กล่าวหา บริษัท บมจ.ทีโอที และผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่าการเข้าไปแก้ไข เปลี่ยนแปลง Root Password เพื่อเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์และหน่วยเก็บข้อมูล ทำให้ บมจ.ทีโอที ในฐานะผู้เช่า ได้ประโยชน์จากการใช้งานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากสัญญาเช่า ให้กับเทเลเมติคส์

Back to top button