เวทีเอก “DTAC”-“กสทช.” มาตรการเยียวยาคลื่น!

ย้อนรอยข่าวเด็ดข่าวดังปี 2561 - เวทีเอก “DTAC”-"กสทช." มาตรการเยียวยาคลื่น!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการคัดเลือกข่าวเด็ดข่าวดังของปี 2561 นำมาเสนอให้นักลงทุนได้ย้อนอ่านถึงความเป็นมา และบทสรุปของข่าวต่างๆ อีกครั้ง โดยวันนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นร้อน ถือเป็นมวยถูกคู่ “DTAC” และ กสทช. ที่กว่าจะได้บทสรุปก็มีการฟ้องร้องกันออกมายืดยาว

โดยประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสัมปทานคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ของ DTAC ใกล้หมดสัญญาในวันที่ 15 ก.ย.61ที่ผ่านมา โดยทาง DTAC ได้มีการขอรับสิทธิในการเยียวยาลูกค้าที่ใช้บริการคลื่นดังกล่าวกับทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เพื่อเป็นการประวิงเวลาเพื่อที่จะย้ายลูกค้าไปยังคลื่นที่มีอยู่ก่อนไปยังคลื่นอื่น ถือเป็นการซื้อเวลาเพิ่มในการขยายโครงข่าย 4G คลื่น 2300 MHz ให้มีครอบคลุมมากพอและย้ายลูกค้าได้มากที่สุดก่อนจะหยุดใช้งานคลื่นดังกล่าว

สำหรับแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการที่เสนอต่อ กสทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบจะยึดหลักในการทำเพื่อประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ และต้องมั่นใจในการใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง หรือซิมไม่ดับ ทั้งนี้ ระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิของลูกค้าจะดำเนินต่อไปจนกว่าคลื่นความถี่เดิมจะถูกนำไปใช้งานด้วยการจัดสรรให้ผู้ประกอบการรายใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 4 ส.ค.2561 ซึ่งเป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz ที่อยู่ภายใต้สัมปทาน DTAC ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่ได้รับจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กลับไม่มีผู้ประกอบการรายใด หรือแม้แต่ DTAC เข้าร่วมประมูลดังกล่าว โดยผู้ประกอบการมองว่าเงื่อนไข และราคาเริ่มต้นประมูลไม่เหมาะสม โดยกสทช.ได้เปิดประมูล 3 ใบอนุญาติซึ่งเป็นใบอนุญาตละ 15 MHz ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาทต่อ 15 MHz และใช้กฎ N-1 (ไลเซนส์ที่นำออกประมูลน้อยกว่าผู้เข้าประมูล 1 จำนวน) ดังนั้นจะนำออกประมูลครบทั้ง 3 ใบอนุญาตต่อเมื่อมีผู้ยื่นขอเข้าประมูล 4 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายมีสิทธิยื่นประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินหนึ่งชุดคลื่นความถี่ ทั้งนี้เมื่อไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมในการประมูลครั้งนี้จึงส่งผลให้การประมูลถูกยกเลิก เนื่องจากการใช้กฎ N-1 ของกสทช.

ต่อมา ทางกสทช. ได้เคาะวันจัดการประมูลรอบใหม่ ในคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ต (MHz) ในวันที่ 18 ส.ค.และจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 19 ส.ค.2561โดยได้มีการปรับหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่น 1800 MHz โดยแบ่งใบอนุญาตที่จะจัดการประมูลออกเป็น 9 ใบ ขนาดความถี่ใบละ 5 MHz ผู้ประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นใบละ 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท จากเดิมแบ่งคลื่นความถี่ 1800MHz จำนวนทั้งหมด 45MHz เป็น 3 ใบอนุญาต ใบละ 15MHz อายุใบอนุญาต 15 ปี ราคาเริ่มต้นประมูล 37,457 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz ยังคงเหมือนเดิม คือ ใบอนุญาต 1 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz โดยแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด ดังนี้ งวดที่ 1 ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน, งวดที่ 2 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต, งวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือทั้งหมด ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

โดยทาง DTAC เปิดเผยว่าจะเข้ารวมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในครั้งนี้ ซึ่งทางกสทช. ยื่นคำขาดให้ทาง DTAC เข้ายื่นขอเอกสารเข้าประมูลภายในวันที่ 16 ต.ค.61

ทั้งนี้ กสทช.ระบุว่า หากมีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นดังกล่าวเพียง 1 ราย กสทช. จะดำเนินการยืดระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน นับจากวันประมูล เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือรายอื่นได้เข้าร่วมประมูล และจะให้ DTAC เข้าสู่กระบวนการเยียวยาทันที โดยยื่นข้อตกลงว่า DTAC จะต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เท่านั้น ซึ่งหาก DTAC ไม่เข้าร่วมประมูลก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเยียวยา ซึ่งทาง DTAC จะต้องเร่งดำเนินการย้ายลูกค้าไปยังคลื่นที่มีอยู่ก่อนหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ในวันที่ 15 ก.ย.61

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2561ทาง  DTAC แจ้งว่า บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทจะทำการยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800MHz ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 8 สิงหาคม 2561

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 890 -895 /935 -940 MHz ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 นั้น บริษัท (รวมถึงบริษัทในเครือ) จะไม่เข้าร่วมการประมูลและจะไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศฯ ดังกล่าว

โดย DTAC ยังคงเดินหน้าเจรจากับ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองลูกค้าใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้า DTAC หลังจากสิ้นสุดสัมปทาน DTAC ได้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. อย่างเคร่งครัดที่จะให้บริการอย่างต่อเนื่องสำหรับลูกค้าจำนวนมากที่ยังคงใช้งานอยู่บนคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกค้า โดยถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง DTAC และ กสทช. ที่จะดำเนินตามแผนคุ้มครองลูกค้า ตามที่ กสทช. ได้เคยดำเนินการร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่นในช่วงสิ้นสุดสัมปทานที่ผ่านมา โดยตามหลักการนั้น มาตรการคุ้มครองลูกค้าให้ใช้งานบนคลื่นความถี่จะมีผลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการจัดสรรคลื่นให้ผู้บริการรายใหม่

ทั้งนี้ในวันที่ 19 ส.ค.61 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ต โดยมีผู้ประกอบการ 2 รายเข้าร่วม ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ซึ่งเป็น DTAC และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทย่อยของ ADVANC

โดยทาง DTAC เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่จำนวน 1 ชุด ในแถบย่านความถี่ 1745-1750 คู่กับ 1840-1845 MHz คิดเป็นแถบความกว้าง 2 x 5 MHz ด้วยราคาประมูลรวมทั้งสิ้น 12,511 ล้านบาท  ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz กลับยังไม่มีผู้ประกอบการรายได้เข้าร่วมประมูล

ทั้งนี้ กสทช. ระบุว่า DTAC และผู้ประกอบการรายอื่น ไม่ได้เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการคลื่น 850 MHz ของ DTAC ก็จะไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองและไม่สามารถใช้โครงข่ายย่านคลื่นความถี่ 850 MHz ได้ภายหลังวันที่ 15 ก.ย.61 อันเป็นวันสิ้นสุดสัมปทาน

“จำนวนผู้ใช้บริการ 60,000 ราย ถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ที่ DTAC สมควรเข้าสู่มาตรการเยียวยา เพราะเป็นจำนวนผู้ใช้บริการที่ไม่ได้มีมากจริง ประกอบกับกสทช.ได้แจ้งให้ทาง DTAC ทำการโอนย้ายลูกค้าก่อนหน้านี้แล้ว” นายฐากร เลขาธิการ กสทช.กล่าว

อย่างไรก็ตาม DTAC ได้ยื่นฟ้อง กสทช. ในคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่า กสทช.กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีมีมติในคราวประชุมครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2561 กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 800 MHz โดยอ้างว่าหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และมีคำสั่งที่ สทช 5009/21072.25 ลว. 31 ก.ค. 2561 ให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติตามมติดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นมติและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยในวันที่ 14 ก.ย.61 ศาลได้มีคำสั่ง ทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุมครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ที่กำหนดเงื่อนไขว่า หากผู้ฟ้องคดีไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ก็จะไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นครั้งคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญากาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2561 โดยให้ผู้ฟ้องคดีได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการประกาศดังกล่าว จึงให้ทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าวจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอื่น

ทั้งนี้ คำสั่งศาลดังกล่าวส่งผลให้ กสทช. ต้องให้สิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีการสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ได้จนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวลงมา ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ DTAC บนคลื่นความถี่ 850 MHz ยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์ได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ธ.ค. 2561 ตามคำสั่งศาล

ต่อมาภายหลังจากมีการปรับเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ทาง DTAC ได้เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม 2561 ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 890-895/935-940 MHz ลงวันที่ 26 กันยายน 2561

โดย ดีแทค ไตรเน็ต เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่จำนวน 1 ชุด ในแถบย่านความถี่ 890 –895 คู่กับ 935 –940 MHz คิดเป็นแถบความกว้าง 2×5 MHz ด้วยราคาประมูลรวมทั้งสิ้น 38,064 ล้านบาท

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในครั้งนี้ แบ่งการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ออกเป็น 4 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 4,020,000,000 บาท งวดที่ 2 ชำระ 2,010,000,000 บาท งวดที่ 3 ชำระ 2,010,000,000 บาท และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลฯ ส่วนที่เหลือทั้งหมด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2561 ทาง DTAC ได้ยื่นชำระค่าใบอนุญาตจากการประมูลคลื่น 900 MHz งวดแรก 4,020 ล้านบาท จากการประมูลในราคา 38,064 ล้านบาท โดยได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่น 15 ปี จนถึง พ.ศ. 2576  ซึ่ง กสทช.อยู่ในกระบวนการออกใบอนุญาตการใช้งานคลื่น 900MHz  โดยที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติรับรองการจัดสรรใบอนุญาตคลื่นความถี่เพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคมต่อไปให้ทันตามกำหนดเวลา โดย DTAC จะเริ่มใช้งานคลื่นดังกล่าวตามเงื่อนไขการประมูลตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้จากการที่ DTAC ได้คลื่นใหม่ 900MHz และ 1800MHz ส่งผลให้ DTAC มีบริการคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ (Low-band spectrum) ทำให้ DTAC มีคลื่นให้บริการรวม 110 MHz ได้แก่ คลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz, คลื่น 1800 MHz จำนวน 10 MHz, คลื่น 1800 MHz จำนวน 30 MHz และ คลื่น 2300 MHz จำนวน 60MHzถือเป็นการปิดมหากาพย์ประมูลคลื่นระหว่าง DTAC และกสทช.อย่างแฮปปี้เอนดิ้ง…..อิอิ

Back to top button