รัฐสุ่มเสี่ยง

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา อันดับของประเทศไทยใน “ดัชนีรัฐล้มเหลว” หรือ Failed States Index ที่จัดทำโดย สหรัฐอเมริกา กองทุนเพื่อสันติภาพ และนิตยสาร Foreign Policy ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศถูกเฝ้าระวังเพราะมีความสุ่มเสี่ยงสูง


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา อันดับของประเทศไทยใน “ดัชนีรัฐล้มเหลว” หรือ Failed States Index ที่จัดทำโดย สหรัฐอเมริกา กองทุนเพื่อสันติภาพ และนิตยสาร Foreign Policy ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศถูกเฝ้าระวังเพราะมีความสุ่มเสี่ยงสูง

จนถึงบัดนี้ นอกจากอันดับในดัชนีไม่ดีขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มจะลดลงไปด้วย

เรื่องนี้คนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่ทราบ แต่ไม่อาจจะปฏิเสธได้

แต่ละปี ดัชนีดังกล่าว ซึ่งมีหลายระดับความเข้มข้น จากเกณฑ์วัดเดียวกัน ที่ประกอบไปด้วยปัจจัยทางด้านสังคม 4 ตัว ทางด้านเศรษฐกิจ 2 ตัว และทางด้านการเมือง 6 ตัว แล้วนำมาสรุปจัดลำดับว่าประเทศใดเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการที่ดี (สีเขียว) ปานกลาง (สีเหลือง) มีคำเตือน (สีส้ม) และล้มเหลว (สีแดง) แล้วประกาศเผยแพร่ทั่วโลก

คำว่า รัฐล้มเหลว หมายถึง รัฐที่ไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายใน มีความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย รัฐบาลและกลไกรัฐขาดความมั่นคงและประสิทธิภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้

คำ ๆ นี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้หลายครั้งโดยแฝงนัยเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าแทรกแซงจากรัฐที่อ้างว่ารุ่งเรือง โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องประชาชนของรัฐที่ล้มละลาย รัฐอันธพาล หรือรัฐก่อการร้าย อย่างชอบธรรม

ปัจจัย 12 ประการที่ใช้ชี้วัด ถ่วงน้ำหนัก และสรุปผล ประกอบด้วย

1.แรงกดดันทางประชากรศาสตร์

2.การย้ายถิ่นฐานของประชาชน

3.กรณีความขัดแย้งของแต่ละกลุ่มชน ซึ่งเป็นผลจากความไม่พอใจในอดีต

4.ปัญหาการไหลออกของทุนมนุษย์ (สมองไหล)

5.ความไม่แน่นอนของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาถึงความไม่เสมอภาคของประชากร (ความเหลื่อมล้ำ) ซึ่งสามารถเห็นได้จากโอกาสทางการศึกษา การงาน และสถานะทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสามารถวัดได้โดยตัวเลขกลุ่มคนยากจน อัตราการเกิดการตาย หรือระดับการศึกษา

6.ความชัดเจน และ/หรือ ความรุนแรงของการถดถอยของเศรษฐกิจ

7.การปกครองของรัฐที่ไร้ความเป็นธรรม

8.ความเสื่อมถอยของการให้บริการสาธารณะ

9.การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แพร่หลาย

10.การใช้เครื่องมือที่ใช้รักษาความมั่นคง ที่เรียกว่า “State within a state” : เป็นลักษณะการปรากฏตัวของกลุ่มอำนาจสูงสุดของรัฐ โดยอาศัยการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่คุกคามฝ่ายตรงข้าม หรือพลเรือนที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐ หรือมีความเห็นที่สนับสนุนกลุ่มตรงข้ามรัฐ เปรียบกับการสร้าง “กลุ่มกองกำลังภายในกองกำลังเดียวกัน” เพื่อรับใช้แสวงหาผลประโยชน์ให้กับกองทัพหรือกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดจะก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้านทั้งในรูปของทหารพลเรือน กองโจร กองกำลังเอกชนติดอาวุธ หรือการใช้ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ทำให้ความรุนแรงแผ่ขยายออกไป เพื่อต่อต้านกับกองกำลังของรัฐ

11.การก่อตัวของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด

12.การแทรกแซงกิจการภายในจากรัฐอื่น หรือปัจจัยภายนอก

กรณีของไทย เหตุปัจจัยข้อที่ 5, 7, 9 และ 10 น่าจะถือว่าติดลบและถ่วงรั้งให้อันดับการเป็นรัฐล้มเหลวไม่ดีขึ้น เพราะการจัดอันดับจะอาศัยคะแนนรวม ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก 12 ตัวชี้วัด แต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 10 คะแนนเป็น 0 หมายถึงมีระดับความรุนแรงต่ำสุด (มีเสถียรภาพที่สุด) และ 10 หมายถึง มีระดับความรุนแรงสูงสุด (ไร้เสถียรภาพที่สุด) มีคะแนนรวมเท่ากับ 120 คะแนน จาก 12 ตัวชี้วัด โดยมีช่วงคะแนนตั้งแต่ 0-120

ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เดิมทีนั้น คาดว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่จะถึง อันเป็นสัญญาประชาคมสำคัญ น่าจะเป็นหลักหมุดจะนำมาซึ่งสถานการณ์ที่ยกระดับคะแนนในดัชนีให้กระเตื้องขึ้น แต่การเลื่อนไม่มีกำหนดที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นไปตามทฤษฎีสมคบคิด ทำให้คะแนนที่คาดว่าจะดีขึ้นสวนทางลง

ข้อเขียนของหมอเลี้ยบ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในประเด็นที่มีข้อสรุปอันแหลมคมว่า การเลื่อนเลือกตั้งไปคือการไม่มีเลือกตั้ง เพราะมีนัยยะแอบแฝงจากคนบางกลุ่มไม่อยากเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เพราะเดิมพันในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงยิ่ง บทเรียนของมาเลเซียหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด กำลังหลอกหลอนหลายคน

ตรรกะที่อาจจะมีคนบอกว่าจินตนาการเกินจริงของหมอเลี้ยบที่ว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 171 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 กำหนดให้ 1) ตราพระราชกฤษฎีกาฯ ภายในวันที่ 10 มีนาคม 2562

2) กำหนดให้ “วันเลือกตั้ง” ไม่ช้ากว่าวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 แต่เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 268 กลับบัญญัติให้ “การเลือกตั้งแล้วเสร็จ” ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562

ด้วยเหตุที่ข้อกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง วันเลือกตั้งจึงไม่ควรช้ากว่าวันที่ 11 มีนาคม 2562 ดังนั้น การเสนอให้กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญฯ และอาจมีผู้ไปร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ คณะกรรมการเลือกตั้งถูกฟ้องร้องทั้งแพ่งและอาญา ซึ่งเท่ากับ “เตะหมูเข้าปากหมา” เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สภานิติบัญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีกำหนด

ในจุดเลวร้ายที่สุด หากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณายาวนาน อาจไม่มีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ หรือหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกเมื่อไร ไม่มีใครทราบได้ เพราะบทเฉพาะกาลไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาในสถานการณ์จำลองนี้

ข้อสรุปของหมอเลี้ยบ จะจริงหรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สอดรับกับปรากฏการณ์ประเทศกูมี ปรากฏการณ์ #เลื่อนแม่มึงสิ …ที่พาสังคมก้าวเท้าข้างหนึ่ง (หรืออาจทั้งสองข้าง) สู่สภาวะรัฐล้มเหลวมากขึ้น

ตลาดหุ้นในประเทศแบบนี้ มีคำถามว่าจะทะยานได้ไกลแค่ไหน

 

Back to top button