BGRIM รับลูก กพช.ต่ออายุ SPP เตรียมงบ 1.65 หมื่นลบ. ผุดโรงไฟฟ้า 3 แห่ง พร้อม COD ปี 65

BGRIM รับลูก กพช.ต่ออายุ SPP เตรียมงบ 1.65 หมื่นลบ. ผุดโรงไฟฟ้า 3 แห่ง พร้อม COD ปี 65


นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจะใช้เงินลงทุนราว 1.65 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ขึ้นมาใหม่ 3 แห่งเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP ที่อยู่ในค่ายโรงไฟฟ้า SPP ระบบ Cogeneration จำนวน 25 โรง ที่หมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐในช่วงปี 59-68 หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันนี้อนุมัติการต่อสัญญาโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าทดแทนทั้ง 3 แห่ง จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเขิงพาณิชย์ (COD) ได้พร้อมกันในปี 65

“เราค่อนข้างโล่งอกที่รัฐบาลอนุมัติเรื่องดังกล่าวออกมา เพราะดีเลย์มาหลายปีแล้ว ต้องขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญอนุมัติตามมติ กพช.เดิมเมื่อปี 59 หลังจากนี้เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป มั่นใจว่าเราจะสร้างเสร็จทันตามกำหนด ซึ่งเรามีอยู่ 3 โรง ก็คงจะ COD ใหม่ได้พร้อมกันในปี 2022” นางปรียนาถ กล่าว

อนึ่ง BGRIM มีโรงไฟฟ้า SPP ที่จะหมดอายุสัญญาซื้อขายกับภาครัฐในช่วงปี 59-68 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์1 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 168 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ หมดอายุสัญญาเดือนก.ย.62 , โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 108 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ หมดอายุสัญญาเดือนก.ย.65 และโรงไฟฟ้าไซม์ ดาร์บี้ เพาเวอร์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 105 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์ หมดอายุสัญญาเดือนก.ค.65

ทั้งนี้ ตามมติกพช.วันนี้ให้ SPP ระบบ Cogeneration ที่สิ้นสุดอายุสัญญาในปี 59-68 ได้รับการต่ออายุสัญญาหรือก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยให้ใช้เชื้อเพลิงตามสัญญาเดิม และได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องกับประเภทเชื้อเพลิง และได้มอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าภายใต้หลักการตามมติ กพช. ดังกล่าวสำหรับโรงไฟฟ้าที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 62-64 และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ทัน เพื่อให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้

โดย กำหนดอัตราซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้า SPP ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ในช่วงต่ออายุสัญญา 3 ปี ที่อัตรา 1.24 บาท/หน่วย และสัญญาใหม่ที่จะรับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 25 ปี ที่ราคา 2.54 บาท/หน่วย ในขณะที่ราคารับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 2.8186 บาท/หน่วย

ทั้งนี้ หลังจากนี้ก็จะต้องเจรจารายละเอียดกับ กกพ.ถึงการต่ออายุสัญญาซื้อขายสำหรับโรงไฟฟ้า SPP ของกลุ่มที่จะหมดอายุ 1 แห่งในปี 62 ออกไปก่อนตามระยะเวลา 3 ปีตามมติ กพช.เดิม พร้อมกับการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ทันภายในปี 65 ที่โรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งจะหมดอายุสัญญา โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5.5 พันล้านบาท/แห่ง มีกำลังผลิตติดตั้งแห่งละ 130 เมกะวัตต์ แต่จะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้กับภาครัฐไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีจำหน่ายให้กับภาครัฐ 60-90 เมกะวัตต์/แห่ง แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะบริษัทมีลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอยู่จำนวนมากเพียงพอที่จะรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว

ส่วนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ที่ไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ใหม่ โดยมีเพียงการจะรับซื้อไฟฟ้าใหม่ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน ที่อาจเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP)/การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น ทางบริษัทก็พร้อมแข่งขันในการประมูล IPP อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่ากรณีโรงไฟฟ้า SPP จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมดีกว่า และสามารถปรับเป็นไมโครกริดได้ ซึ่งประสิทธิภาพจะดีกว่า

สำหรับความคืบหน้าการจะเข้าร่วมซื้อกิจการโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี1 ของบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (due diligence) อย่างละเอียดว่ามีความเหมาะสมจะเข้าร่วมเสนอซื้อกิจการหรือไม่ ซึ่งหากตัดสินใจจะซื้อกิจการจะต้องยื่นข้อเสนอภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้

 

Back to top button