BGC ฉายแววกำไรไตรมาส 4 โตกระฉูด รับกำลังผลิตพุ่ง

BGC ฉายแววกำไรไตรมาส 4 พุ่งกระฉูด รับกำลังผลิตเพิ่ม โบรกฯชี้ผลงานปี 61 มีลุ้นโตต่อ


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลหุ้นบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC หลังราคาหุ้น BGC ปิดตลาดวานนี้ (4 ก.พ.) ปรับตัวขึ้นแรงมาอยู่ที่ 12.10 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 4.31% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 90.61 ล้านบาท ยังคงมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมาย 13.60 บาท อยู่ 12%

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 4/61 และประจำปี 2561 มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นทั้งเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบจากปีก่อน ขณะเดียวกันยังในปี 2562-2563 ยังคาดว่าผลการดำเนินงานจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้

โดย นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น BGC ประเมินราคาเป้าหมาย 13.60 บาท/หุ้น (PER ปี 2562 ที่14 เท่า) ซึ่งเทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยย้อนหลังของกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ซื้อขายใน SET และคู่เทียบบริษัทในต่างประเทศ โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/61 และปี 2561 เติบโตได้ดีทั้งเมื่อเทียบจากปีก่อนและเมื่อเทียบกจากไตรมาสก่อน จากการขยายกำลังการผลิต มาร์จิ้นที่ดีขึ้นและค่าใช้จ่ายรวมที่ลดลง

ทั้งนี้เป็นผลมาจาก 1) เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 39% โดยกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,495 ตันต่อวัน ในปีไตรมาส 4/61 และ 2) คาดกำไรสุทธิเติบโต 34% ในปี 2562 รวมทั้ง 3) อัตรากำไรเพิ่มขึ้นจากต้นทุนเศษแก้วและพลังงานที่ลดลง และบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อจะเพิ่มอัตรากำไร

โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/61 ของ BGC อยู่ที่ 153 ล้านบาท เติบโตสูงเมื่อเทียบจากปีก่อนและไตรมาสก่อน จาก 1) คาดรายได้เติบโต 3% เมื่อเทียบจากปีก่อน และโต 36% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 3,095 ล้านบาท จากกำลังการผลิตที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 3,495 ตันต่อวันหลังจากเปิดโรงงานราชบุรีในเดือนพ.ย.2561 และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มมาที่ 90%

รวมทั้ง 2) คาดอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 16.4% เพิ่มขึ้นจาก 16.2% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และ 13.1% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากต้นทุนที่ปรับตัวลดลงทั้งเศษแก้ว และพลังงาน รวมทั้งสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงเพิ่มขึ้น เช่น ตลาดส่งออก และกลุ่มอาหาร และ 3) คาดค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขายอยู่ที่ 9.7% ลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อน เนื่องมาจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงในการสนับสนุนกิจกรรม CSR

สำหรับปี 2561 เราคาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 503 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 186 ล้านบาทในปี 2560 เป็นผลจาก 1) การขยายกำลังการผลิตจากปัจจุบันอยู่ที่ 3,095 ตันต่อวัน มาอยู่ที่ 3,495 ตันต่อวัน หรือเติบโต 13% หลังจากเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์สำหรับโรงงานแห่งใหม่ที่ราชบุรี (RBI) ในปลายปี 2561 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทขยายฐานลูกค้าและสร้างอัตรากำไรเนื่องจากโรงงานแห่งนี้มีความยืดหยุ่นในการผลิตที่สูงกว่า ทำให้บริษัทมีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มอาหารมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (high value added)

โดยจะมีขยายไปยังต่างประเทศมากยิ่งขึ้น อาทิ อินเดีย เวียดนาม เพื่อชดเชยตลาดในประเทศที่เติบโตน้อย โดยเราคาดอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 16.3 % และค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขายอยู่ที่ 9.4% และสำหรับปี 2562-2563 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 677 ล้านบาทและ 753 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ BGC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2562 จะเติบโต 7-8% จากการมุ่งเน้นการขยายตลาดเข้ารับงานผลิตขวดแก้วให้กับลูกค้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดบริษัทก็ได้เข้าไปเปิดตลาดในประเทศอินเดีย และได้รับคำสั่งซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คิดเป็นมูลค่าราว 100 ล้านบาท/ปี โดยมองประเทศอินเดียมีจำนวนประชากรค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อบริษัทในการขยายตลาดเพิ่มเติมอีก

โดยบริษัทตั้งเป้าจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 12-13% ในปี 2562 จากปี 2561 คาดจะอยู่ที่ 10% โดยปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกไปแล้วในหลายประเทศ ได้แก่ ในประเทศ AEC เช่น เวียดนาม, ออสเตรเลีย และยุโรป เป็นต้น และมีกำลังการผลิตขวดแก้วที่ 3,495 ตัน/ปี ซึ่งคิดเป็นอัตราการใช้ที่ 90%

นอกจากนี้ บริษัทจะเน้นขายบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น บรรจุภัณฑ์ยาและอาหาร อย่างขวดรังนก และขวดเหล้า เป็นต้น เพื่อเพิ่มอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการผลิตสินค้าประเภท HVA อยู่ที่ 10-20% คาดว่าในปี 62 จะขยับขึ้นเป็น 20-30%

อีกทั้งวางงบลงทุนปี 62 ไว้ที่ 300-400 ล้านบาท แบ่งเป็น 250 ล้านบาทใช้ในการติดตั้งหุ่นยนต์ และเครื่องตรวจสอบคุณภาพแก้ว ระหว่างกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดของเสียจากกระบวนการผลิต ส่วนที่เหลือจะใช้ในการปรับปรุงระบบไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนพลังงาน ซึ่งหากมีการดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานลง 3-4 % จากเดิมที่มีต้นทุนพลังงานอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท/ปี ทำให้กำไรในปีหน้าดีขึ้น

นอกจานี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำในประเทศ จำนวน 2-3 ราย เพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัท คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ปี 2562

Back to top button