สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 11 ก.พ. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (11 ก.พ.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอาจถูกชัตดาวน์อีกครั้ง หลังจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตคว้าน้ำเหลวในการเจรจาประเด็นความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในสัปดาห์นี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,053.11 จุด ลดลง 53.22 จุด หรือ -0.21% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,709.80 จุด เพิ่มขึ้น 1.92 จุด หรือ +0.07% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,307.90 จุด เพิ่มขึ้น 9.71 จุด หรือ +0.13%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (11 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นก่อนที่การเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐและจีนจะเริ่มขึ้นที่กรุงปักกิ่ง โดยหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลุ่มน้ำมันปรับตัวขึ้นนำตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเจรจาในประเด็น Brexit ระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.85% ปิดที่ 361.12 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,014.59 จุด เพิ่มขึ้น 107.81 จุด หรือ +0.99% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,129.11 จุด ปรับตัวขึ้น 57.93 จุด หรือ +0.82% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,014.47 จุด บวก 52.84 จุด หรือ +1.06%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (11 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง หลังถูกกดดันจากความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการเปิดเผยข้อมูลใหม่ที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงอย่างมากไตรมาส 4 ปี 2561 ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งเริ่มขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อวานนี้ด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,129.11 จุด เพิ่มขึ้น 57.93 จุด หรือ +0.82%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (11 ก.พ.) โดยได้รับแรงกดดันจากการที่สหรัฐเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันและผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น รวมทั้งความกังวลที่ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันลดน้อยลง นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดน้ำมันด้วยเช่นกัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 31 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 52.41 ดอลลาร์/บาร์เรล  ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 59 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 61.51 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (11 ก.พ.) โดยได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ นอกจากนี้ การที่ดัชนี Nasdaq และS&P500 ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงเคลื่อนไหวในแดนบวกเมื่อคืนนี้ ยังส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 6.6 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,311.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 11.9 เซนต์ หรือ 0.75% ปิดที่ 15.69 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 15.90 ดอลลาร์ หรือ 1.98% ปิดที่ 786.60 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 14.40 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 1356.80 ดอลลาร์/ออนซ์

 

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 ก.พ.) หลังจากมีรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักรขยายตัวที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ส่วนสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2860 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2932 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1275 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1322 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7062 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7085 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.40 เยน จากระดับ 109.77 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0040 ฟรังก์ จากระดับ 0.9999 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3298 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3268 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button