IRPC วางงบ 5 ปี 1.05 แสนลบ. ลงทุนเพิ่มศักยภาพธุรกิจโตแกร่ง มองปี 62 อุตฯปิโตรเคมีฟื้นตัว

IRPC วางงบ 5 ปี (ปี 62-66) วงเงิน 1.05 แสนลบ. ลงทุนเพิ่มศักยภาพธุรกิจโตแกร่ง มองปี 62 อุตฯปิโตรเคมีฟื้นตัว


บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ระบุว่า บริษัทวางงบลงทุน 5 ปี (ปี 62-66) จำนวน 105,184 ล้านบาท ประกอบด้วยงบลงทุนที่มีแผนการดำเนินงานชัดเจน (committed) จำนวน 71,043 ล้านบาท และงบประมาณสำหรับสร้างโอกาสลงทุนอื่นจำนวน 34,141 ล้านบาท งบลงทุนที่มีแผนการดำเนินชัดเจนส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ “GDP” ได้แก่ Power of Growth, Power of Digital, Power of People โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และความเป็นเลิศขององค์กร ควบคู่กับการเพิ่มศักยภาพของพนักงาน เพื่อการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการลงทุนสำคัญ ประกอบด้วย 1. โครงการ MARS หรือ Maximum Aromatics Project เป็นโครงการผลิตพาราไซลีน และสารเบนซีน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในบริษัท ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

  1. ค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงโรงงานและโครงการลงทุนทั่วไป โดยในปี 2565 ได้รวมค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Turnaround) ซึ่งดำเนินการซ่อมบำรุงตามแผนทุก ๆ 5 ปี
  2. โครงการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ส่วนใหญ่เป็นแผนการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 และ 4. โครงการ E4E และ IRPC 4.0 โดยโครงการ E4E หรือ EVEREST Forever เป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการ EVEREST เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน ส่วนโครงการ IRPC 4.0 เป็นการบูรณาการระบบดิจิทัลและนำนวัตกรรมทันสมัยต่างๆ มาใช้ในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ สำหรับงบลงทุนที่มีแผนการดำเนินงานชัดเจนในปี 62 มีวงเงิน 11,316 ล้านบาท

ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ ได้แก่ โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการ UHV เป็นโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันหนักจากหอกลั่นให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ในส่วนของการติดตั้งเครื่องถ่ายเทความร้อนจากตัวเร่งปฏิกิริยา (UHV Catalyst Cooler Project) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตโดยใช้น้ำมันหนักเป็นวัตถุดิบและช่วยลดข้อจำกัดของอุณหภูมิในเครื่องปฏิรูปตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst Regenerator) ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/62

โดยโครงการ EVEREST และโครงการ EVEREST Forever (E4E) ซึ่งในปี 2561 โครงการ EVEREST สามารถสร้างกำไร (กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ : EBIT) ให้กับบริษัทประมาณ 7,970 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้จัดทำโครงการ EVEREST Forever (E4E) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจาก EVEREST โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลกำไรให้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3,300 ล้านบาท/ปี

ส่วนโครงการ IRPC 4.0  เป็นการนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กร และพัฒนาการบริการลูกค้าสู่ความเป็นดิจิทัลทั้งระบบ

ขณะที่อุตสาหกรรมในปี 62 มีแนวโน้มราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 61 และเคลื่อนไหวในกรอบ 60-68 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังการเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศเป็นไปในทิศทางบวก

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบคาดการณ์จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.1-1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ประกอบกับซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มเติมเพื่อปรับสมดุลตลาด นอกเหนือจากการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกกลุ่มโอเปก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน

ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคาดว่าจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สไตรีนิคส์ เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์รายใหญ่ของโลก จึงเป็นแหล่งผลิตหลักในกลุ่มผลิตภัณฑ์สไตรีนิคส์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มลดลง ประกอบกับค่าเงินหยวนของจีนเริ่มมีทิศทางทรงตัว ส่งผลให้ความต้องการเม็ดพลาสติกปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากผู้ผลิตสินค้าชะลอการสั่งซื้อในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ด้านผลิตภัณฑ์กลุ่มโพลีโพรพิลีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับกลุ่มผลิตภัณฑ์สไตรีนิคส์ จากการคาดการณ์กำลังการผลิตใหม่สำหรับปี 62 อยู่ที่ประมาณ 2.5-3.0 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการพัฒนาในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้บริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกมากขึ้น

รวมถึงการหยุดผลิตนอกเหนือจากที่วางแผนไว้ (unplanned shutdown) ของโรงงานในแถบตะวันออกกลางช่วยผลักดันราคาให้อยู่ในระดับสูง สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มโพลีเอทิลีนคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ในขณะที่ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราลดลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 61 บริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 258,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากราคาขายและปริมาณขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยโรงกลั่นน้ำมันใช้อัตราการกลั่นในระดับสูงขึ้นที่ 208,000 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 16% เป็นผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่นน้ำมันหลังจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนในไตรมาส 1/60 ขณะที่ทั้งปี 2561 มีกำไรสุทธิ 7,735 ล้านบาท ลดลง 32% จากปีก่อน เป็นผลจากการขาดทุนสต็อกน้ำมัน 1,238 ล้านบาท หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วช่วงปลายปี และการบันทึกค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จากการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) ในช่วงปลายปี 2560

ส่วนในไตรมาส 4/61 มีรายได้จากการขายสุทธิ 64,233 ล้านบาท ลดลง 7% จากไตรมาส 3/61 และมีขาดทุนสุทธิ 1,627 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 2,560 ล้านบาทในไตรมาส 3/61

Back to top button