GPSC ปิดดีลซื้อ GLOW พร้อมทุ่ม 4 หมื่นลบ.ตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯหุ้นที่เหลือทั้งหมด22 มี.ค.นี้!

GPSC ปิดดีลซื้อ GLOW พร้อมทุ่ม 4 หมื่นลบ.ตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯหุ้นที่เหลือทั้งหมด 22 มี.ค.นี้!


นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 มี.ค.62 บริษัทได้เข้าทำธุรกรรมซื้อหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW จาก ENGIE Global Developments B.V. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ GLOW ในสัดส่วน 69.11% โดยการชำระค่าหุ้นในราคาหุ้นละ 91.9906 บาท มูลค่าประมาณ 93,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อนึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้รวมกิจการ ภายใต้เงื่อนไขให้ GLOW จำหน่ายกิจการของบริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งล่าสุด GLOW ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน GPSC เตรียมเงินจำนวน 40,000 ล้านบาท ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของกิจการ (Tender Offer) สัดส่วนประมาณ 30.89% ของหุ้นทั้งหมดของ GLOW ในราคาเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นระหว่าง GPSC และ ENGIE Global Developments B.V.

แต่ทั้งนี้ราคาดังกล่าวจะมีการปรับลดลง หาก GLOW มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นในการได้รับเงินปันผล หรือสิทธิใดๆ ต่อผู้ถือหุ้น โดยการกำหนดสิทธิดังกล่าว เกิดก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการทำคำเสนอซื้อ ราคาเสนอซื้อหุ้นของ GLOW  จะปรับลดลงในจำนวนเงินเทียบเท่าเงินปันผล หรือสิทธิต่างๆ ดังกล่าว และผู้ถือหุ้นที่แสดงเจตนาขายจะได้รับสิทธิเงินปันผล หรือสิทธิต่างๆ ดังกล่าวของ GLOW

โดยคาดว่าจะสามารถยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มี.ค.62 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 

ทั้งภายหลังการรวมกิจการจะส่งผลให้ GPSC มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 2,771 เมกะวัตต์  จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิต  1,955  เมกะวัตต์  รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 4,726 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ GPSC มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมได้มากยิ่งขึ้น

“GPSC มีความพร้อมที่จะให้บริการและดูแลลูกค้าทุกรายด้วยการส่งมอบพลังงานที่มีเสถียรภาพ พร้อมกับการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจไฟฟ้าจากการนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัท มาเสริมความแข็งแกร่งด้วยการผนึกศักยภาพผลิตไฟฟ้า (Operational Synergy) ทำให้เกิดการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขายและให้บริการ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะมีการลงทุนมากขึ้นในระยะยาว” นายชวลิต กล่าว

Back to top button