KTC เด้ง 3% ทุบสถิติ “ออลไทม์ไฮ” โบรกฯเชียร์ “ซื้อ” ชูเป้า 46 บ. คาดผลงานโตต่อเนื่อง

KTC เด้ง 3% ทุบสถิติ "ออลไทม์ไฮ" โบรกฯเชียร์ "ซื้อ" ชูเป้า 46 บ. คาดผลงานโตต่อเนื่อง โดย ณ เวลา 16.27 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 40.75 บาท บวก 1.25 บาท หรือ 3.16% สูงสุดที่ระดับ 41 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 39.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 634.56 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ณ เวลา 16.27 น. อยู่ที่ระดับ 40.75 บาท บวก 1.25 บาท หรือ 3.16% สูงสุดที่ระดับ 41 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 39.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 634.56 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่ 4 นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 35.75 บาท เมื่อวันที่ 4 เม.ย.62

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ (5 เม.ย.62) แนะนำ “ซื้อ” KTC ราคาเป้าหมาย 46 บาท/หุ้น โดยปรับกำไร KTC อีก 6% ปี 2562 เป็น 5.9 พันล้านบาท และ 8% ปี 2563 เป็น 6.5 พันล้านบาท เนื่องจากคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อสูงกว่าประมาณการเดิมของบัวหลวง จาก 5% สำหรับทั้งปี 2562 และ 2563 มาอยู่ที่ 7% สำหรับทั้งสองปีดังกล่าว ดังนั้นทำให้ปรับราคาเป้าหมายปี 2562 สูงขึ้น 7% มาอยู่ที่ 46 บาท อ้างอิงจาก PBV ที่ 5.3 เท่า หรือ PE ที่ 20 เท่า (ROE อยู่ที่ 26.3%, Ke อยู่ที่ 9% และgrowth อยู่ที่ 5%) เราจึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KTC

โดย KTC ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 10% ในปี 2562 จาก 6% ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ finco ได้ตั้งงบประมาณสำหรับการตลาดอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท (ทรงตัวจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) โดยตั้งเป้าทำการตลาดในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, การประกันภัย, การแพทย์, โรงแรมและการบริการ

นอกจากนี้บริษัทกำลังจะจัดหาลูกค้าใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์, สาขา และผ่านทางธนาคารกรุงไทย (ผู้ถือหุ้นหลัก) จึงปรับเพิ่มการประมาณการการเติบโตของสินเชื่อของบัวหลวงจาก 5% สำหรับปี 2562 และ 2563 มาอยู่ที 7% สำหรับทั้งสองปีดังกล่าว ดังนั้นการคาดการณ์กำไรของบัวหลวงเติบโต 6% ในปี 2562 มาอยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท และ 8% สำหรับปี 2563 มาอยู่ที่ 6.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่า KTC จะรายงานการเติบโตของสินเชื่อที่ 7% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน สำหรับในไตรมาส 1/62 มาอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท หนุนโดยสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคาดว่าอยู่ที่ 23.2% เพิ่มขึ้น 76bps จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน หนุนโดยการขยายตัวของสินเชื่อ และการจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดี การประมาณการของเราบ่งชี้ว่ากำไรอยู่ที่ 1.39 พันล้านบาทสำหรับในไตรมาสนี้ สูงขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และ 13% จากไตรมาสก่อน

โดยประมาณการว่า KTC จะตั้งสำรองหนี้สูญฯสุทธิ (หักหนี้สูญรับคืน) อยู่ที่ 690 ล้านบาท สูงขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และทรงตัวจากไตรมาสก่อน หาก finco ตั้งสำรองหนี้สูญฯในไตรมาส 1/62 ต่ำกว่าที่เราคาดการณ์จะเป็นโอกาสในการอัพไซด์การประมาณการกำไรของเรา ทั้งนี้ในปลายปี 2561 บริษัทมีอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงที่สุดในกลุ่มการเงินอยู่ที่ 616% มากพอที่จะรองรับมาตรฐานการบัญชี IFRS9 ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มใช้ในเดือนม.ค. ปี 2563

นอกจากนี้ KTC จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ที่จะดำเนินงานธุรกิจ pico-finance ซึ่งบริษัทจะถือหุ้น 75% ของการร่วมทุนในครั้งนี้ โดย KTB จะถือหุ้นที่เหลือ 25% ธุรกิจ pico-finance คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ผลิตภัณฑ์จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 36% ต่อปี (เพดานอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตอยู่ที่ 18% และเพดานสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 28%) KTC จะเริ่มต้นจากการทำการตลาดผลิตภัณฑ์pico-finance สู่ฐานลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอยู่  0.93 ล้านบัญชี การดำเนินการธุรกิจ pico-lending ที่ประสบความสำเร็จจะอัพไซด์ต่อการประมาณการกำไรของเราเนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยขยายตัว

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 อยู่ที่ 24.0% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 23.4% ในปีที่แล้วผู้บริหารวางแผนที่จะตั้งธุรกิจ e-wallet และ payment gateway (KTB จะถือหุ้น 25%) ซึ่งส่งผลให้ KTC เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่จะกลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ e-payment / m-payment ที่สำคัญและสามารถสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมใหม่ของกิจการในระยะยาวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดสัญญาความร่วมมือในการโอนชำระค่าสินค้าบริการในกลุ่ม CLMV

ทั้งนี้ในประมาณการยังไม่ได้สะท้อนการร่วมทุนดังกล่าว เนื่องจากบริษัทจะต้องใช้เวลาในการประเมินว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร

Back to top button