SCBLIFE

ประเด็นที่ยุ่งยากและซับซ้อนที่สุดคือการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาดที่ต้องขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ


Cap & Corp Forum

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ว่าธนาคารได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นซึ่งมีผลผูกพันเพื่อการขายหุ้นที่ธนาคารถืออยู่ทั้งหมดในบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (SCBLIFE) ให้แก่กลุ่มเอฟดับบลิวดี (FWD Group Financial Services Pte. Ltd.) โดยหากพิจารณาจากข้อมูลธุรกิจประกันชีวิตในไทย การควบรวมครั้งนี้ (หากควบรวมธุรกิจ SCBLIFE เข้าไปใน บมจ.เอฟดับบลิวดี) อาจทำให้ บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิตขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 ของธุรกิจประกันชีวิตไทย การซื้อขายกิจการครั้งสำคัญนี้จึงมีประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจหลายประการโดยเฉพาะผลกระทบต่อการแข่งขันในธุรกิจประกันชีวิต

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดเรื่องการรวมธุรกิจ (business concentration) ไว้ในมาตรา 51 ว่าการรวมธุรกิจให้หมายความรวมถึงการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่น (asset acquisition) เพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจ การอํานวยการ หรือการจัดการ และการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่น (share acquisition) ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจ การอํานวยการ หรือการจัดการ

ดังนั้น ธุรกรรมระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์และกลุ่มเอฟดับบลิวดีจึงมีลักษณะเป็นการรวมธุรกิจตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเอฟดับบลิวดีมีหน้าที่ตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าด้วย โดยพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ กำหนดหลักเกณฑ์ที่สำคัญเกี่ยวกับระบบการแจ้งและการขออนุญาตรวมธุรกิจไว้ 3 ลักษณะ กล่าวคือ

  • การรวมธุรกิจที่ไม่มีนัยใด ๆ ต่อการแข่งขัน การรวมธุรกิจแบบนี้ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งได้แก่การรวมธุรกิจที่ยอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจที่มีมูลค่าน้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาท
  • การรวมธุรกิจที่ต้องแจ้งภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีการรวมธุรกิจ ได้แก่ การรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสําคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง กล่าวคือเป็นการรวมธุรกิจที่ยอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งหรือของผู้ประกอบธุรกิจที่จะรวมธุรกิจในตลาดใดตลาดหนึ่งรวมกันตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป และไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด รายละเอียดปรากฎตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งผลการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561
  • การรวมธุรกิจที่ต้องขออนุญาต ได้แก่ การรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาด (merger to monopoly) หรือการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด (merger to dominance position) รายละเอียดปรากฏตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561

การรวมธุรกิจประเภทที่ 3 นี้ ต้องมีการขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ กรณีใดบ้างที่จะเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีอนุบัญญัติอีกอย่างน้อย 2  ฉบับที่ต้องพิจารณาประกอบ ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณากําหนดขอบเขตตลาดและส่วนแบ่งตลาด พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ. 2561

ผู้ประกอบธุรกิจที่มีการมีรวมธุรกิจที่มีหน้าที่แจ้งการรวมธุรกิจแต่ไม่แจ้งหรือที่ต้องขออนุญาตแต่ไม่ดำเนินการขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจอาจมีความรับผิดทางปกครองได้ (ไม่ใช่โทษทางอาญา) โดยกฎหมายกำหนดโทษทางปกครองไว้ดังนี้

กรณีต้องแจ้งแต่ไม่แจ้ง ต้องชําระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินสองแสนบาท และปรับอีกในอัตราไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทต่อวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่

กรณีต้องขออนุญาตแต่ไม่ขออนุญาต ต้องชําระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจนั้น

ประเด็นที่ยุ่งยากและซับซ้อนที่สุดคือการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาดที่ต้องขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ เนื่องจากมีขั้นตอนและกระบวนการที่ต้องดำเนินการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการรวมธุรกิจที่จะทำให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งหลาย ๆ กรณีผู้ประกอบธุรกิจยังอาจไม่ทราบด้วยว่าตนเองเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ และการรวมธุรกิจแบบใดที่จะทำให้ตนเองเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดบ้าง

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ มาตรา  4(4)  ยังกำหนดไว้ด้วยว่าพระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า (regulatory exemption) กรณีปัญหาคือจะถือว่าธุรกิจประกันชีวิตเป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้าแล้วหรือไม่ หากถือว่าใช่ก็ได้รับยกเว้นจากการบังคับใช้พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ และใครจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า ธุรกรรมครั้งนี้ไม่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ

ธุรกิจประกันชีวิตเป็นกิจการควบคุมภายใต้ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ การโอนกิจการและการควบรวมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเสียก่อน ซึ่งหากพิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 จะไม่พบแนวคิดในเรื่องของการคุ้มครองโครงสร้างการแข่งขันในธุรกิจประกันชีวิตเลย ในขณะที่การรวมธุรกิจตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีลักษณะเป็นการกำกับดูแลโครงสร้างตลาดล่วงหน้า เป็นการป้องกันมิให้โครงสร้างตลาดส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน

ผู้เขียนเห็นว่า เพื่อให้เกิดความแน่นอนในการบังคับใช้กฎหมาย คู่สัญญาในธุรกรรมซื้อขายครั้งนี้ควรใช้สิทธิตามมาตรา 59 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเพื่อพิจารณาวินิจฉัยเป็นการล่วงหน้าว่าการซื้อกิจการในครั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ด้วยหรือไม่

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Back to top button