ธปท.จุดเริ่มต้นสกัดบาทแข็ง

จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการกับมาตรการสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินบาท เมื่อวันที่ 12 ก.ค.62 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น นับเป็น “มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท” ที่เกิดขึ้น หลังธปท.มีการส่งสัญญาณและความกังวลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่สอดคล้องปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย สาระสำคัญของมาตรการธปท.คือ…


พลวัตปี 2019 :  สุภชัย ปกป้อง

จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการกับมาตรการสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินบาท เมื่อวันที่ 12 ก.ค.62 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น นับเป็น “มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท” ที่เกิดขึ้น หลังธปท.มีการส่งสัญญาณและความกังวลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่สอดคล้องปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย สาระสำคัญของมาตรการธปท.คือ…

1) เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนมาตรการดูแลบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident: NR) โดยธปท. ปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของ NR ลงมาที่ 200 ล้านบาทต่อราย จากเดิม 300 ล้านบาทต่อราย

ทั้งบัญชี NRBA ที่เป็นบัญชีเงินบาทของ NR  เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป อาทิ เพื่อชำระค่าสินค้า/บริการและบัญชี NRBS  ที่เป็นบัญชีเงินบาทของ NR เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น ๆ เกณฑ์นี้จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.62

2) เรื่องการยกระดับความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะต้องมีการรายงานลึกขึ้นถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners: UBO) หมายถึงผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ (NR) ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง และหรือผู้ที่มีอำนาจทั้งในทางตรงและทางอ้อมในการตัดสินใจทำธุรกรรม เพื่อถือครอง หรือลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกในไทย เริ่มมีผลตั้งแต่งวดการรายงานข้อมูลเดือนก.ค.62

เมื่อดูจากสาระสำคัญของมาตรการครั้งนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าธปท.มีการเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเงินไทยช่วงระยะสั้นมากขึ้น หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ ออกมาส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ จนมีการวิเคราะห์กันว่าอาจเกิดขึ้นช่วงการประชุม FOMC ช่วงปลายเดือนก.ค.นี้

แม้ผลสะท้อนจากมาตรการดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมแข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ใช่ความสำเร็จของมาตรการนี้เป็นเพียงตอบรับระยะสั้น ที่สำคัญเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป คือ ประสิทธิภาพจากมาตรการนี้หากเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าลง เมื่อมีการปรับลดดอกเบี้ยสหรัฐ นั่นทำให้กระแสเงินทุนไหลเข้าไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และหากเม็ดเงินทุนไหลเข้าระดับที่ผิดปกติ มีโอกาสที่ธปท.อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการหรือเครื่องมืออื่น ๆ เพิ่มเติมได้เช่นกัน

-การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงแค่หนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท แต่การลดดอกเบี้ยอาจเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยได้เช่นกัน

-มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น (URR) ที่เป็นมาตรการยาแรงที่เห็นผลเร็วสุดแต่มีผลกระทบต่อตลาดการเงินและตลาดทุนอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการมาตรการกันสำรองเงินเข้า 30% ที่ปรากฏชัดถึงผลกระทบกับมาตรการดังกล่าวมาแล้ว

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นมาตรการหรือเครื่องมือก็ตาม ย่อมมีผลกระทบทั้ง “เชิงลบและเชิงบวก” ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นบทพิสูจน์ธปท.เช่นกันด้วยว่ามีความแหลมคมกับการประเมินสถานการณ์มากน้อยเพียงใด เพราะนั่นหมายถึงความแหลมคมในการใช้มาตรการและเครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

Back to top button