TMB ร่วงเฉียด 6% เซ่นดัชนีลงหนัก โบรกฯชี้หลังเพิ่มทุนไดลูท 10% ยันหุ้นไม่ต่ำกว่า 1.60 บาท

TMB ร่วงเฉียด 6% เซ่นดัชนีลงหนัก โบรกฯชี้ราคาหลังเพิ่มทุนไดลูท กรณีแย่สุดหุ้นไม่ต่ำกว่า 1.60 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ล่าสุด ณ เวลา 11.30 น. อยู่ที่ระดับ 1.60 บาท ปรับตัวลดลง 0.10 บาท หรือ 5.88% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 195.64 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน ด้านวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) มองว่าระยะสั้นราคาหุ้น TMB จะตอบรับเชิงลบจาก dilution ที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มทุน โดยคาดในกรณีที่แย่ที่สุดที่ราคา TSR อยู่ที่ 1.35 บาท จะทำให้เกิด price dilution ในขั้นแรกก่อนการเพิ่มทุน PP และผู้ถือหุ้น TBANK เมื่อเทียบราคาปิดเมื่อวาน 1.79 บาท ที่ประมาณลดลง 10% (1.60 บาท) แต่หลังจาก PP และผู้ถือหุ้น TBANK เพิ่มทุนแล้วคาด price dilution ลดลงประมาณ 3%

อย่างไรก็ตามคาดราคา TMB จะไม่ปรับลงเท่ากับ dilution ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจาก TMB จัดสรรการเพิ่มทุนเป็น TSR ซึ่งมีข้อดีต่อผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคาร เนื่องจากหากไม่ต้องการเพิ่มทุนจะสามารถขายต่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้

ดังนั้นสำหรับผู้ไม่มีหุ้น TMB และอยากลงทุนระยะยาวในหุ้นธนาคารใหม่ แนะนำให้รอราคา TMB ปรับตัวลงใกล้ dilution ที่เกิดขึ้น และสามารถเข้าซื้อเพื่อหวังประโยชน์ในระยะยาวที่กำไรของธนาคารใหม่ที่คาดจะเพิ่มขึ้น โดยในเบื้องต้นเราคาด EPS ปีหน้าของธนาคารใหม่จะอยู่ที่ 0.17 บาทต่อหุ้น แต่ในปีต่อ ๆ ไปหลังจากที่เกิด synergy จากการควบรวมคาด EPS จะโตขึ้นเรื่อย ๆ และโตได้ดีกว่าก่อน TMB ควบรวม ราคาเป้าหมาย 2.10 บาท

 

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผลจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK ในกลุ่มทุนธนชาต หรือ TCAP จะทำให้ราคาหุ้นธนาคารทหารไทยที่กระทรวงการคลังถือราคาเฉลี่ยลดลงเหลือ 2 บาทต่อหุ้น จากเดิม 3.84 บาทต่อหุ้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้นออกไปในขณะนี้

ทั้งนี้เมื่อคลังใส่เงินเพิ่มทุน 1.5 หมื่นล้านบาทแล้วจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของคลังลดลงเหลือ 18% จากเดิม 25% ส่วนเงินที่ใส่เพิ่มทุนจะมาจากกองทุนรวมวายุภักษ์ที่คลังถือหุ้นใหญ่อยู่ โดยภายหลังการควบรวมจะทำให้สถานะของธนาคารขยับขึ้นเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 6 ของประเทศ มีขนาดทรัพย์สิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะน้อยลง แต่ผลตอบแทนจะได้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตามหลังการควบรวมยังคงใช้ชื่อธนาคารทหารไทยเหมือนเดิม โดยโครงสร้างผู้ถือหุ้น แบ่งเป็นกลุ่มไอเอ็นจีกรุ๊ป สัดส่วน 21.24% ทุนธนชาต สัดส่วน 20.43% และกระทรวงการคลัง สัดส่วน 18.4% ภายใต้เงื่อนไขว่า กระทรวงการคลังจะเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งประธานกรรมการธนาคาร

นายอุตตม กล่าวว่า การควบรวมธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต จะทำให้ประเทศไทยไม่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก แต่จะมีธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางซึ่งมีสินทรัพย์ในระดับ 1.9  ล้านล้านบาท และจะทำให้ระบบสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ธนาคารจะระดมทุนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หลังจากควบรวมกิจการกันแล้วตนยังคงเป็นประธานบอร์ดธนาคารทหารไทยต่อไปตามข้อตกลง ส่วนชื่อของธนาคารใหม่ยังไม่มีความชัดเจน

Back to top button