เล่นหุ้นแบงก์เล็ก

ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 512.32 จุด


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 512.32 จุด

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) ดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก์ลงมาเหลือ 459.07 จุด หรือลดลงกว่า 10.39% จากสิ้นปี 2561

ถือว่าหนักหนาพอสมควรเลยล่ะ

ทว่า ดัชนีกลุ่มฯ ที่ปรับลดลง หากเทียบกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น

กลุ่มแบงก์ ยังลงมาน้อยกว่า เพราะกลุ่มอสังหาฯ ดัชนีกลุ่มฯ ลงมามากถึง 24-25% จากสิ้นปี 2561

ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจากสิ้นปีที่แล้วมาถึงปัจจุบัน หรือวานนี้ วิ่งขึ้นมา 3.47% (ดัชนีเคยขึ้นไปสูงสุดในปีนี้ 11.32% ที่ระดับ 1,740 จุด  ณ วันที่ 11 ก.ค.)

หุ้นกลุ่มแบงก์ค่อย ๆ เริ่มโซซัดโซเซ หลังแจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2562 ออกมา

ไตรมาส 1 แบงก์มีกำไรรวมกันกว่า  5.59 เพิ่มขึ้น 6.46%

กำไรที่เพิ่มขึ้นเกิดจากกำไรพิเศษจากการขายบริษัทลูกของแบงก์กรุงศรีฯ หรือ BAY

แต่หากเจาะลงไปเป็นรายแบงก์ จะพบว่า 3 แบงก์ใหญ่ นำโดย BBL SCB และ KBANK ต่างมีกำไรสุทธิลดลงถ้วนหน้า

ยกเว้นกรุงไทยที่บวกสวนขึ้นมา จากการได้บันทึกรายได้พิเศษจากสินทรัพย์ของ AQ

ส่วนกำไรไตรมาส 2/2562 อยู่ประมาณ 5.20 หมื่นล้านบาท แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2561 ส่งผลครึ่งปีแรก แบงก์กำไรรวมกันกว่า 1.08 แสนล้านบาท

แบงก์ส่วนใหญ่ยังมีรายจ่ายค่อนข้างสูง

และแต่ละแบงก์ต่างมีปัจจัยเรื่องของรายจ่ายแตกต่างกันไป

หลังจากแจ้งผลประกอบการออกมาไม่กี่วัน กลับมีข่าวร้ายเข้ามายังหุ้นกลุ่มธนาคารซ้ำเพิ่มอีก

นั่นคือ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%

และทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือ 1.50%

หลังจากนั้น แบงก์หลายแห่งต่างปรับดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาทั้ง MRR และ MOR อีก 0.25% แต่ไม่ได้ลดดอกเบี้ยเงินฝากลง ทำให้นักลงทุนต่างกังวลเรื่อง NIM ที่แคบลง และส่งผลต่อกำไรสุทธิในปีนี้

นักลงทุนต่างแห่ขายหุ้นกันออกมาเพิ่มอีกจนทำให้ P/BV ของหุ้นแบงก์ส่วนใหญ่ ลงไปต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี

หุ้นแบงก์หลายตัวราคาต่ำกว่าบุ๊กแวลูอีก

นักวิเคราะห์ต่างมองว่า มีโอกาสที่ กนง.อาจจะปรับดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในปีนี้ราว ๆ 0.25%

และก็น่าจะกดกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ร่วงอีก

หลังจากนักวิเคราะห์ดีดลูกคิด ผลสรุปออกมา ต่างปรับประมาณการกำไรหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่และขนาดกลางลง พร้อมกับปรับราคาเป้าหมายลงมา

ล่าสุดแบงก์รายงานสินเชื่อเดือนก.ค. เติบโตเพียง 0.1% เท่านั้น  เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนใหญ่สินเชื่อ Corporate ต่างปรับลดลงถ้วนหน้า

ส่วนสินเชื่อบ้านกับรถยนต์ยังขยายตัวได้ดี ทำให้ภาพรวมพอจะบวกได้บ้าง

นักวิเคราะห์ ยังกังวลกับการเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย หรือค่าฟีนั่นเอง

ค่าฟีที่ว่านี้ แบงก์อาจเผชิญแรงกดดันจากยุค Digital

และจากธุรกิจประกันที่เผชิญความท้าทาย จากกฎของ คปภ.และ ธปท.ที่เข้มงวดด้านการขายประกันมากขึ้น

นี่ยังไม่รวมกฎเกณฑ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงทั้งเรื่อง TFRS 9 ที่จะเริ่มใช้ในต้นปีหน้า และการที่ธปท.กังวลกับปัญหาหนี้ครัวเรือน จึงอาจจะออกมาตรการเพื่อควบคุม DSR (Debt service ratio) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น

ปัญหาทั้งหมดที่ว่านี้ ทำให้ส่วนใหญ่แนะ “ถือ” หรือหากเป็นไปได้ ให้เลี่ยงลงทุนหุ้นแบงก์ไปก่อน

ทว่า ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นใครแนะนำขายหุ้นแบงก์นะ

อย่างมากต่างแนะนำ “ถือ” หรือ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” (สำหรับนักลงทุนระยะปานกลางถึงยาว)

หรือไม่ก็หันไปเล่นหุ้นแบงก์เล็กอย่าง TISCO และ KKP

เพราะยังจ่ายปันผลระดับสูง

Back to top button