RATCH วิ่งฉิว 4% ทำ “ออลไทม์ไฮ” ลุ้นกำไร Q3/62 เด้ง! บุ๊กโรงไฟฟ้า NNE กำลังผลิต 110 MW

RATCH วิ่งฉิว 4% ทำ "ออลไทม์ไฮ" ลุ้นกำไร Q3/62 เด้ง! บุ๊กโรงไฟฟ้า NNE กำลังผลิต 110 MW โดย ณ เวลา 12.02 น. อยู่ที่ระดับ 71.75 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 3.61% สูงสุดที่ระดับ 72 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 69.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 497.42 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ณ เวลา 12.02 น. อยู่ที่ระดับ 71.75 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 3.61% สูงสุดที่ระดับ 72 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 69.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 497.42 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้น RATCH ได้ปรับตัวขึ้นแรงทำจุดสูงสุดใหม่ตั้งแต่เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

ด้านนักวิเคราะห์บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น RATCH โดยมีเป้าเชิงกลยุทธ์ที่ระดับ 72 บาท เนื่องจากกรณีซื้อโรงไฟฟ้า SPP สามารถรับรู้กำไรเพิ่มทันที และราคาหุ้นยังไม่สะท้อนการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเอสพีพีระบบโคเจนเนอเรชั่น มูลค่า 5,726.68 ล้านบาท กำลังผลิตติดตั้ง 110 MW อายุสัญญา PPA คงเหลือ 20 ปี จะทำให้ RATCH มี EBITDA เพิ่มทันทีปีละ 400-500 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าหุ้นประมาณ 2-2.50 บาท/หุ้นของ RATCH

ทั้งนี้ ราคายังไม่สะท้อนการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าลม 70% ขนาด 214MW ในออสเตรเลีย มูลค่าเงินลงทุน 53.3 ล้านออสเตรเลียนดอลลาร์ เริ่มรับรู้รายได้ในเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะมี EIRR ประมาณ 12% และ RATCH จะรับรู้กำไรปีละ 500 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าหุ้นประมาณ 3 บาทต่อหุ้น

 

อนึ่งหนังสือพิมพ์รายวัน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” รายงานวันนี้ว่า นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า บริษัทประกาศความสำเร็จการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเอสพีพี ระบบ โคเจนเนอเรชั่นของบริษัท นวนครการไฟฟ้า จำกัด (NNE) มูลค่าโครงการรวม 5,726.68 ล้านบาท โครงการดังกล่าวมีกำลังผลิตติดตั้ง 110 เมกะวัตต์ (MW) และกำลังผลิตไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทได้ทันที โดยกระแสไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ จำหน่ายแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนกระแสไฟฟ้าที่เหลือ พร้อมทั้งไอน้ำ จะผลิตและจำหน่ายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร

สำหรับโครงการดังกล่าว ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี โดยได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) จำหน่ายให้แก่กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2556

ทั้งนี้ บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ รวม 99.97% ของ NNE เป็นเงินจำนวน 1,998.40 ล้านบาท ส่งผลให้ราช กรุ๊ป เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และได้รับสิทธิในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าเอสพีพีดังกล่าว และคาดว่าราช กรุ๊ป จะเข้าไปดำเนินการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าแห่งนี้อย่างเป็นทางการได้ในเดือนตุลาคม 2562

นายกิจจา กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการในโครงการโรงไฟฟ้านวนครโคเจนเนอเรชั่น เป็นความสำเร็จในการขยายการเติบโตตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัท ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงของกระแสเงินสดและรายได้ของบริษัทยิ่งขึ้น เพราะเป็นโครงการที่เดินเครื่องจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว และยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ที่มีระยะเวลาคงเหลือเกือบ 20 ปี

“โครงการนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทได้ทันที โดยกระแสไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์จำหน่ายแก่กฟผ. ส่วนกระแสไฟฟ้าที่เหลือ พร้อมทั้งไอน้ำ จะผลิตและจำหน่ายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะขยายฐานนลูกค้าอุตสาหกรรมให้มากขึ้น อีกทั้งยังมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย สำหรับเงินลงทุนบริษัทได้จัดสรรเงินทุนในสัดส่วน 35% และจัดหาเงินกู้สัดส่วน 65% เพื่อซื้อโครงการดังกล่าวและคาดว่าดีลจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายนนี้” นายกิจจา กล่าว

ขณะเดียวกันความสำเร็จในการซื้อกิจการโรงไฟฟ้านวนครครั้งนี้ ส่งผลให้กำลังผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการลงทุน เพิ่มขึ้นเป็น 7,047.54 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการจำหน่ายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และไอน้ำที่ผลิตได้จะถูกขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำกำลังเติบโต เป็นการช่วยเสริมให้ระบบพลังงานในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

Back to top button