เผย 7 หุ้นทำเม่าหัวใจสลายครึ่งปีราคาลงฮวบเกิน 50%

เปิดฝาโลง 7 หุ้นโหลยโท่ย ประจำครึ่งแรกปี 58 ทำรายย่อยกระเป๋าฉีกกระจุย หลังผ่านไป 2 ไตรมาสราคาทิ้งตัวลงเกินกว่า 50% งานนี้บอกได้คำเดียวว่า “ดอยกันทั้งหมู่บ้าน”หมดหนทางที่จะเยียวยาให้กลับมาดีเหมือนเดิม เว้นเสียว่า กำไรในปี 58 จะเติบโตแบบถล่มทลาย


เปิดฝาโลง 7 หุ้นโหลยโท่ย ประจำครึ่งแรกปี 58 ทำรายย่อยกระเป๋าฉีกกระจุย หลังผ่านไป 2 ไตรมาสราคาทิ้งตัวลงเกินกว่า 50% งานนี้บอกได้คำเดียวว่า “ดอยกันทั้งหมู่บ้าน”หมดหนทางที่จะเยียวยาให้กลับมาดีเหมือนเดิม เว้นเสียว่า กำไรในปี 58 จะเติบโตแบบถล่มทลาย

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ได้ทำการสำรวจ “หุ้นโหลยโท่ยประจำครึ่งแรก ปี 2558” โดยใช้เกณฑ์หุ้นที่ราคามีการปรับตัวลดลงกว่า 50% ขึ้นไป ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ซึ่งเริ่มนับจากวันทำการเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 จนถึง วันที่ 30มิถุนายน2558 และเมื่ออ้างอิงข้อมูลจากราคาปิดตลาดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พบว่า มีหุ้นเข้าข่ายเกณฑ์ที่ใช้อยู่ด้วยกันทั้งหมด 8ตัว ซึ่งถือเป็นหุ้นควรเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง

หุ้นที่ราคาลงมากสุดอันดับแรกคือ บริษัท โพลาริสแคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดวันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 0.25บาทปรับตัวลดลง1.54 บาท หรือราว 86.03% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.79บาท (ที่ราคาพาร์ปัจจุบัน)โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลสืบเนื่องจากการขาดปัจจัยพื้นฐานเข้ามาสนับสนุน อย่างไรก็ตาม บริษัทเริ่มมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 2

ขณะที่ราคาหุ้น POLAR วานนี้ (16 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 0.19 บาท ปรับตัวลง0.01 บาท หรือ 5% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 9.34 ล้านบาท

หุ้นที่ราคาลงมากสุดอันดับสองคือ บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ AJD โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดวันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 0.99บาท ปรับตัวลดลง 3.07บาท หรือ 75.62% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.06 บาท โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงครึ่งปีแรก น่าจะเป็นผลจากการที่กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่บางรายได้เทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก ประกอบกับผลดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1 ไม่ได้ออกมาตามที่ตั้งเป้าไว้

ขณะที่ราคาหุ้น AJD วานนี้ (16 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 0.98 บาท ปรับตัวลง 0.03 บาท หรือ 2.97% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 68.67ล้านบาท

หุ้นที่ราคาลงมากสุดอันดับสามคือบริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน)หรือ UWC โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดวันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 0.66บาท ปรับตัวลดลง 1.70 บาท หรือราว 72.03% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.36บาท (ที่ราคาพาร์ปัจจุบัน) โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากหุ้นตัวนี้ถือเป็นหุ้นร้อนแรงตัวหนึ่งในช่วงต้นปี จึงมีการเข้าไล่ราคากันอย่างหนัก ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการออกหุ้นเพิ่มทุนแบบ RO และ PP รวมถึงใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ Warrant เป็นจำนวนมาก เมื่อข่าวจริงปรากฏอย่างเป็นทางการ นักลงทุนจึงทิ้งหุ้นทันที

ขณะที่ราคาหุ้น UWC วานนี้ (16 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 0.69 บาท ปรับตัวลง 0.01 บาท หรือ 1.43% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 59.54 ล้านบาท

หุ้นที่ราคาลงมากสุดอันดับสี่คือ บริษัท แมกซ์เมทัลคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดวันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 0.22 บาท ปรับตัวลดลง0.47 บาท หรือ 68.12% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.69 บาทโดยสาเหตุที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงครึ่งปีแรก น่าจะเป็นผลจากแรงเทขายหลังมีการเก็งกำไรในเรื่องการเข้ามาของกลุ่มทุนใหม่ก่อนหน้านี้ อีกทั้งบริษัทยังต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนักในช่วงไตรมาส 1ภาพของหุ้นถึงดูทรุดโทรมอย่างที่เห็น

ขณะที่ราคาหุ้น MAX วานนี้ (16 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 0.22 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้าด้วยมูลค่าการซื้อขาย 19.75 ล้านบาท

หุ้นที่ราคาลงมากสุดอันดับห้าคือ เอเชีย คอร์ปอเรท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ACD โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดไวันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 2.42 บาท ปรับตัวลดลง4.53 บาท หรือ 65.18% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.95 บาทโดยสาเหตุที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลจากการเทขายของนักลงทุน หลังหุ้นตัวนี้ถูกตรวจสอบพบว่า อาจมีส่วนเกี่ยวโยงกับการเข้าสร้างราคาของ “กลุ่มอาจารย์เพชร” ผู้ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นอาชญากรทางการเงินในตอนนั้น อีกทั้งบริษัทยังมีผลดำเนินงานขาดทุนมาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ราคาหุ้น ACD วานนี้ (16 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 2.52 บาท ปรับตัวลง 0.02 บาท หรือ 0.79% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.30 ล้านบาท

หุ้นที่ราคาลงมากสุดอันดับหกคือบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดวันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 2.56บาท ปรับตัวลดลง 3.69บาท หรือ 59.04% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.25บาทโดยสาเหตุที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะเป็นผลจากการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่บางรายเทขายหุ้นที่ได้มาในต้นทุนต่ำเป็นจำนวนมาก ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าจะทำได้จริงไหม แม้ธุรกิจดังกล่าวจะมีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ แต่ไม่สามารถผลักดันหุ้นกลับขึ้นไปยืนที่จุดเดิมได้

ขณะที่ราคาหุ้น UPA วานนี้ (16 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 2.36 บาท ปรับตัวลง 0.10 บาท หรือ 4.07% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 34.10 ล้านบาท

หุ้นที่ราคาลงมากสุดอันดับสุดท้ายคือบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GJS โดยราคา ณ ตอนสิ้นสุดวันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 0.30บาท ปรับตัวลดลง 0.30 บาท หรือราว 50.00% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.60บาท (ที่ราคาพาร์ปัจจุบัน) โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลงมาอย่างหนักในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากบริษัทมีผลดำเนินงานขาดทุนอย่างหนักในไตรมาส 1 อีกทั้งยังเป็นการขาดทุนตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา บวกกับผู้บริหารถูกกล่าวโทษว่า มีส่วนเกี่ยวข้องในการตบแต่งผลประกอบการ จึงไม่มีใครอยากเข้ามาลงทุนในหุ้นตัวนี้อีกเลย

ขณะที่ราคาหุ้น GJS วานนี้ (16 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 0.27 บาท ปรับตัวลง 0.02 บาทหรือ 6.90% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.70 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำ เพื่อทำให้นักลงทุนเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้หุ้นปรับตัวลงแรง และยังเป็นการเตือนสติให้นักลงทุนทราบว่า หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่ ที่มีการปรับตัวขึ้นแรงในช่วงแรก ล้วนเป็นผลจากแรงเก็งกำไรในประเด็นต่างๆ รวมไปถึงการเข้าสร้างราคาโดยบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมิได้เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานแต่อย่างใด ดังนั้นการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจึงมีจุดจบดังที่ถูกนำเสนอในรายงานฉบับนี้ 

อนึ่ง  การนำเสนอข้อมูลข้างต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button