3 หุ้นโรงพยาบาลเทรดคึก! ลุ้นครม.ไฟเขียว ”อเมริกา-ญี่ปุ่น” รักษาไม่ต้องลงตราวีซ่า 90 วัน

3 หุ้นโรงพยาบาลเทรดคึก! ลุ้นครม.ไฟเขียว ”อเมริกา-ญี่ปุ่น” รักษาไม่ต้องลงตราวีซ่า 90 วัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้นกลุ่มการแพทย์ปรับตัวขึ้นแรงนำโดย บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ณ เวลา 11.56 น. อยู่ที่ระดับ 15.70 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 2.61% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 123.05 ล้านบาท

ด้านบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS ล่าสุดอยู่ที่ 24.10 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.42% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 204.83 ล้านบาท ส่วนบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ณ เวลา 11.56 น. อยู่ที่ระดับ 129.50 ล้านบาท บวก 1.50 บาท หรือ 1.17% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 125.31 ล้านบาท

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า  กลุ่มการแพทย์ วานนี้(26ก.ย.)ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีมติเห็นชอบในการอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติที่จะเดินทางมารักษาพยาบาลในไทย ให้สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้นานขึ้น

ซึ่งมีการขยายทั้งจำนวนประเทศและระยะเวลา โดยประเทศที่สามารถเข้ามารักษาในไทยโดยไม่ต้องลงตราวีซ่า 90 วัน ปัจจุบันมี 11 ประเทศ คือ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง 6 ประเทศ กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และจีน และได้เสนอเพิ่มเติมอีก 2 ประเทศ คือ อเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยและผู้ติดตามอีก 3 ราย รวมเป็น 4 ราย ซึ่งจะส่งเรื่องให้ ครม.อนุมัติเร็ว ๆ นี้ โดยตั้งเป้าปีหน้าติด 1 ใน 10 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ความเห็น: คาดว่าครม. จะมีการอนุมัติให้อีก 2 ประเทศ คือ อเมริกาและญี่ปุ่น เดินทางมารักษาแบบ Medical Visa โดยไม่ต้องลงตราวีซ่า 90 วัน ถือเป็น Sentiment เชิงบวก ต่อรพ.ที่มีฐานลูกค้าชาวต่างชาติ โดยเฉพาะ อเมริกา และ ญี่ปุ่น

โดยเลือก BDMS (Buy : TP 27 บาท เป็นหุ้น Top pick รองลงมาคือ BCH (Buy : TP 19 บาท) และซื้อเก็งกำไรในหุ้น BH (TP 164 บาท) เพราะคาดกำไรของ BH ในปีนี้ยังมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า จากผลกระทบ Trade War

อนึ่งวานนี้(26 ก.ย.62) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้เพิ่มเติมประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อรับการรักษาพยาบาลได้โดยไม่ต้องมีวีซ่าระยะเวลา 90 วัน

สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามรวมไม่เกิน 4 ราย รวมเป็น 13 ประเทศ จากเดิมที่มี 11 ประเทศ คือ กลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ กลุ่มประเทศ CLMV และสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งเห็นชอบให้เพิ่มเติมอีก 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี เบลเยียม สาธารณรัฐออสเตรีย และนิวซีแลนด์ เป็น 18 ประเทศที่สามารถขอวีซ่าแบบพำนักระยะยาว 10 ปี (Long stay visa) จากเดิมที่มี 14 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย  เดนมาร์ก  ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา

ตลอดจนมีการเพิ่มประเภทขอวีซ่าแบบใหม่เป็นประเภทรักษาพยาบาล (Medical Visa) Non-MT ชนิดใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Multiple Entry) คราวละไม่เกิน 1 ปี เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทย โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในหลักการต่อไป

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับส่งเสริมนวัตกรรมและศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้ประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 3.42 ล้านครั้ง สร้างรายได้เข้าประเทศ 28,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.02%

อีกทั้งมีสถานบริการสุขภาพผ่านมาตรฐาน JCI จำนวน 68 แห่ง มากที่สุดในอาเซียน โดยได้กำหนดให้ปี 2563 ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก (Medical Hub) ติดอันดับ 1 ใน 10 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขับเคลื่อนการดำเนินงานเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านบริการรักษาพยาบาล บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน โดยยกระดับ home stay ที่ได้มาตรฐานให้เป็น Healthy home stay เน้นความสะอาด ปลอดภัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพสูงไปวางจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป รวมทั้งเตรียมการรองรับการประกาศผลการพิจารณารับรองบริการนวดไทยเป็นมรดกโลกจาก UNESCO ที่จะมีผลพิจารณาในเดือนธันวาคม 2562

สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ให้จัดทำฐานข้อมูลสถานพยาบาลในแต่ละบริการรักษาพยาบาลและบริการ Wellness ที่มีศักยภาพสูงและดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Magnet) ได้แก่ เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ  สปาทางการแพทย์  การแพทย์ทางเลือก  โรคหัวใจ  กระดูกและกล้ามเนื้อ ทันตกรรม การรักษาผู้มีบุตรยาก โรคมะเร็ง ศัลยกรรม/ศัลยกรรมเสริมสวย/ผ่าตัดแปลงเพศ โรคตาต้อกระจก การแพทย์แม่นยำ รวมทั้งยกระดับผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพให้ไปวางจำหน่ายในต่างประเทศ กำหนดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีศักยภาพสูง และประชาสัมพันธ์ข้อมูลผ่านช่องทางหลักไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ

รวมทั้งพิจารณาประเด็นการจัดตั้งทูตสาธารณสุข (Medical Attache) เพื่อทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ เป็นตัวแทนประเทศไทยในการชี้แจงข้อมูลด้านสุขภาพรองรับนโยบาย Medical Hub ในประเทศเป้าหมาย 5 ประเทศ ได้มอบให้ฝ่ายเลขาฯ หารือกับกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงาน กพ. และนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการท่องเที่ยวจะผลัดเปลี่ยนกันจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ทุกไตรมาส เพื่อขับเคลื่อนมาตรการสำคัญที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทย

Back to top button