3 หุ้นเจาะขุมทรัพย์แห่งแบตเตอรี่

ปฏิเสธไม่ได้เลยกับโลกปัจจุบัน ถือว่าก้าวสู่ยุคพลังงานทดแทนเกือบเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ได้ให้ความสำคัญมากขึ้น


เส้นทางนักลงทุน

ปฏิเสธไม่ได้เลยกับโลกปัจจุบัน ถือว่าก้าวสู่ยุคพลังงานทดแทนเกือบเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ได้ให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องด้วยมีการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนค่อนข้างมากไปยังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน ซึ่งล่าสุดเน้นพลังงานทดแทน ด้วยพลังงานแบตเตอรี่

อย่างล่าสุดทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเตรียมแผนส่งเสริมเพื่อให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยจะมีความชัดเจนในปลายปี 2562

มาตรการส่งเสริมให้มีความครอบคลุม โดยเฉพาะในส่วนของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจหลักของรถยนต์ EV เพื่อให้นำไปสู่การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า หัวชาร์จไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า การใช้ไฟฟ้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีข้างหน้านับจากปี 2563

ขณะที่ทางบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่าง EA, PTT และ BANPU ได้นำร่อง “พลังงานทดแทน ด้วยพลังงานแบตเตอรี่” ที่จะเป็นขุทรัพย์ในการสร้างรายได้ต่อไปในอนาคต

เจ้าแรกของไทยที่เล็งเห็น คือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เนื่องด้วยปลายปี 2559 ทางบริษัทได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นบริษัท อมิตา เทคโนโลยี ผู้ทำธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนชั้นนำในไต้หวัน

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจด้านแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน ขยายฐานลูกค้าเดิม ขยายกำลังการผลิตของโรงงานในไต้หวัน และที่สำคัญ การสร้างโรงงานใหม่อันเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ประเทศไทย ซึ่งมีบริษัทย่อยเข้ามาดำเนินงาน

สำหรับโรงงานในประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินงาน โดยใช้เงินลงทุนเฟสแรกประมาณ 4,700 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยเป้ากำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ใช้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยจะเริ่มผลิตสินค้าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูงออกมาได้ประมาณกลางปี 2563

กระทั่งมียักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ออกมาประกาศจับมือกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ได้มีพิธีลงนามขึ้นเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2562 เพื่อดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา โรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid) เพื่อพัฒนาไปสู่ธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานเชิงพาณิชย์ต่อไป

โดยกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology ที่ GPSC เข้าไปรวมลงทุน แล้วจะจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบขึ้นที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะใช้เวลาทำโรงงานต้นแบบ 2 ปี โดยกลุ่ม ปตท.จะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้คาดว่าจะมีความชัดเจนทั้งพันธมิตรร่วมทุนและพื้นที่จัดตั้งโรงงานภายในสิ้นปี 2562

สำหรับโรงงานต้นแบบดังกล่าว เป็นการทดลองผลิตแบตเตอรี่ได้หลายสูตร ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid) โดยสูตรเคมีชนิดแรกที่จะดำเนินการคือ สูตร Lithium Iron Phosphate หรือ LFP ซึ่งสามารถใช้เป็นแบตเตอรี่สำรองสำหรับรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีขนาด 10 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง

โรงงานต้นแบบดังกล่าวนอกจากจะทดลองผลิตแบตเตอรี่สูตร LFP แล้ว จะผลิตแบตเตอรี่สูตร Lithium Nickel Manganese Cobalt oxide หรือ MMC ควบคู่กันไป ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่เหมาะสมสำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีความจุไฟฟ้าได้สูงเหมาะกับความเร่งต่อการใช้ของรถยนต์ โดยจะใช้เวลา 2 ปีเช่นกัน หากสำเร็จจะต้องหาผู้ร่วมทุนและผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์เช่นกัน

ทั้งนี้ในอนาคตหากโรงงานต้นแบบสำเร็จแล้ว เชื่อว่ากลุ่ม ปตท.จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวแต่เป็นขนาดเล็กเพื่อใช้ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับผลิตไฟฟ้าสูง

ตบท้าย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ร่วมกับพาร์ตเนอร์ บริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์และระบบไฟฟ้าสำรอง

มีการเปิดตัวโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมาตรฐานโลกในเมืองซูโจว ประเทศจีน อย่างเป็นทางการ เพื่อขยายกำลังผลิตให้สูงสุดในอาเซียนสามารถรองรับการผลิตได้ถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง

ขณะที่เดียวกันโรงผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจะสามารถรองรับแผนเชิงรุกในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในยุโรป จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไทย และภูมิภาคอาเซียนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันกว่า 20 ประเทศ เพื่อตอบโจทย์ทิศทางตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากความนิยมเพิ่มขึ้นของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ทั้งประเภทรถบัส รถบรรทุก ระบบการกักเก็บพลังงานสำหรับบ้านพักอาศัย และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในระบบการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System)

นอกจากนี้ทาง BANPU และดูราเพาเวอร์มีการมุ่งพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในเมืองซูโจว ประเทศจีน ให้มีระบบการดำเนินงานและการผลิตที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงในระบบออโตเมชันมาใช้ภายในโรงงาน พร้อมขยายกำลังการผลิตจากเมื่อปี 2561 ที่มีกำลังผลิตรวมสูงสุดต่อปีอยู่ที่ 80 เมกะวัตต์ชั่วโมงให้รองรับแผนการผลิตได้ถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง ส่งผลให้โรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน

อีกทั้งยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิตของโรงงานซูโจวให้เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อรองรับแผนการบุกตลาดระบบกักเก็บพลังงานแบบติดตั้งอยู่กับที่ (Stationary Energy Storage System) ในปี 2563 เนื่องจากโรงงานยังมีศักยภาพจะสามารถรองรับการขยายไลน์การผลิตได้สูงสุดถึง 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง

เชื่อว่าจากทั้งสามหลักทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองการเสริมศักยภาพสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ตลอดจนขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทยและในระดับสากลให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

Back to top button