20 หุ้น SET ราคาดิ่งไม่เลิก! 10 เดือนนักลงทุนกระเป๋าฉีกเกิน40% 

20 หุ้น SET ราคาดิ่งไม่เลิก! 10 เดือนนักลงทุนกระเป๋าฉีกเกิน40% 


ทิศทางการลงทุนในช่วง  10 เดือนแรกปี 2562 จะพบว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยได้อ่อนตัวหลุดแนวรับสำคัญหลายครั้งโดยในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนมีการปรับตัวลงต่อเนื่องและหลุดระดับ 1700 จุด เนื่องจากนักลงทุนกังวลปัจจัยสงครามการค้า,การประท้วงในฮ่องกงทำให้  Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้จะเห็นว่าในเดือนตุลาคม 2562 ดัชนีได้ปรับตัวลดลงแรงอีกครั้งและหลุดแนวรับสำคัญ 1600 จุด เนื่องจากมีการประกาศงบการเงินกลุ่มธนาคารและมีแรงเทหุ้นในกลุ่มแบงก์ เนื่องจาก KBANK ได้ประกาศเป้าหมายทางการเงินปีหน้าออกมาแล้วดูไม่ดี ทำให้นักลงทุนกังวลว่าแบงก์อื่นก็จะประกาศเป้าหมายทางการเงินปีหน้าไม่ดีเช่นเดียวกันจึงทำทำให้มีแรงขายหุ้นกลุ่มแบงก์ออกมาฉุดดัชนีฯราว 6-7 จุด เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62

อีกทั้งตลาดได้รับปัจจัยลบกรณีที่สหรัฐฯระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) สินค้าไทยบางรายการ กำหนดให้มีผลบังคับใช้วันที่ 25 เม.ย.63 ฉุดให้มีแรงขายนำหุ้นกลุ่มส่งออก

ขณะเดียวกันช่วงนี้เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงได้กลับมารุนแรงและกดดันภาวะการลงทุนรอบใหม่ อีกทั้งการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความไม่แน่นอนอีกครั้ง หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ออกมาบอกว่า ยังไม่ได้ตกลงที่จะลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้าให้กับจีน และก็แสดงความไม่เห็นด้วยตลาดฯจึงมีความกังวล

อย่างไรก็ตามครั้งก่อนทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจกลุ่มหุ้นตลาดหลักทรัพย์ SET ในช่วง 10 เดือนที่ปรับตัวลงแรงมานำเสนอไปแล้ว สำหรับครั้งนี้จะขอนำเสนอกลุ่มหุ้นที่ราคาปรับตัวลงแรงอีกด้าน โดยครั้งนี้คัดเลือกมาทั้งหมด 20 อันดับที่ราคาปรับตัวแรงเกิน 40%โดยจะขอเลือกนำเสนอข้อมูลประกอบ 5 อันดับแรกของตารางดังนี้

โดยอันดับ 1 คือ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับลง  88.89%  จากยืนที่ระดับ 0.36 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 อ่อนตัวลงมามาอยู่ที่ระดับ 0.04 บาท ณ วันที่ 31 ต.ค.62 โดยแรงเทขายส่วนใหญ่คาดว่ามาจากแผนธุรกิจที่ยังไม่ชัดเจนและพื้นฐานที่ยังขาดทุนหนัก อีกทั้งประเด็นบริษัทผิดนัดชำระหนี้กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ยังเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจ

อย่างไรก็ตามล่าสุด PACE ผิดนัดชำระหนี้กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งได้ครบกำหนดในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 นั้น บริษัทได้มีหนังสือถึงธนาคารไทยพาณิชย์ ขอผ่อนผันและขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไปเป็นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการหารือเรื่องรายละเอียดของการปรับโครงสร้างทางการเงินเพิ่มเติม บริษัทจะแจ้งความคืบหน้าต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ PACE ได้รับหนังสือแจ้งกรณีผิดนัดและให้บริษัทชำระหนี้ จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 2 ฉบับ รวมมูลหนี้คิดเป็น 9.48 พันล้านบาท แบ่งเป็น วงเงิน 2.7 พันล้านบาท กำหนดชำระวันที่ 4 พ.ย.62 และวงเงิน 6.78 พันล้านบาท กำหนดชำระวันที่ 20 พ.ย.62

 

อันดับ 2 บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับลง  73.36%  จากยืนที่ระดับ 2.74 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 อ่อนตัวลงมามาอยู่ที่ระดับ ณ วันที่ 31 ต.ค.62 ราคาหุ้นปรับตัวลงต่อเนื่องคาดเป็นผลมาจากพื้นฐานธุรกิจขาดทุนต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2560

ด้านายวรุณ อัตถากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM เปิดเผยว่า ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ภายหลังจากที่บริษัทมีกำหนดต้องชำระเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนอีกจำนวน 3 รุ่น ประกอบด้วย รอบแรกคือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2561 (TLUXE205A) จำนวน 200 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 8 พ.ค.63 , รอบถัดไปคือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2561 รุ่น TLUXE198A จำนวน 319.50 ล้านบาท ที่เลื่อนชำระออกไปเป็นวันที่ 2 ก.ค.63 และรอบสุดท้ายเป็นหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 (PPPM213A) จำนวน 207.60 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 18 มี.ค.64

สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในชุดแรกจำนวน 200 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นบริษัทศึกษาการชำระหนี้ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรกคือการนำกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินกิจการในปัจจุบันมาชำระหนี้หุ้นกู้ ,แนวทางที่ 2 การรีไฟแนนซ์ โดยใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือแหล่งเงินทุนอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาชำระคืนทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เนื่องจากช่วงนี้แนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาลง เชื่อว่าในกรณีถ้ากู้เงินรอบใหม่มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม แม้ว่าปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน แต่บริษัทยังมีสินทรัพย์ที่เป็นมูลค่าเพียงพอต่อการค้ำประกันเงินกู้ชุดใหม่ และแนวทางที่ 3 คือตัดขายสินทรัพย์หรือธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นออกไป

นายวรุณ กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางผลประกอบการในปี 62 ยังมีโอกาสขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและเงินลงทุนยังเป็นสัดส่วนสูงกว่ารายได้ แม้ว่าธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักยังเติบโตได้ดี โดยปีนี้คาดมีรายได้เฉลี่ยราว 2 พันล้านบาท หรือเติบโต 3-5% ต่อปี และมีศักยภาพทำกำไรสูงขึ้น เพราะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทแข็งค่าและนำเข้าวัตถุดิบหลักอย่างถั่วเหลืองที่มีราคาถูกลงจากผลของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายจากการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน Geothermal ในประเทศญี่ปุ่น เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มบันทึกรายได้เข้ามาในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีจำนวน 12 โครงการ ในกรณีทุกโครงการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้เรียบร้อย จะรับรู้เป็นรายได้รวมกว่า 140 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยโครงการละ 12 ล้านบาทต่อปี เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทพลิกกลับมาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ผมขอใช้เวลา 1 ปีกวาดล้างบ้านให้สะอาดก่อน แม้ว่าระยะสั้นจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่เราก็พยายามปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้มีความเหมาะสมทั้งช่วงเวลาและอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทสามารถชำระได้โดยไม่เกิดปัญหา จากปัจจุบันบริษัทมีดอกเบี้ยต้องชำระปีละ 60-90 ล้านบาท ด้านธุรกิจหลักผลิตอาหารสัตว์เรามองว่ามีโอกาสเติบโตและมีศักยภาพทำกำไรที่ดี ขณะเดียวกันยังมองแนวทางลดต้นทุนในหลายๆด้าน อาทิ พลังงานหรือขนส่ง เป็นต้น ถ้าเป็นไปตามแผนเราก็คาดหวังเช่นกันว่าในปี 63 ทุก ๆ อย่างจะเริ่มกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง” นายวรุณ กล่าว

 

อันดับ 3  บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TFI โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับลง 70.836%  จากยืนที่ระดับ 0.24 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 อ่อนตัวลงมามาอยู่ที่ระดับ 0.07 บาท ณ วันที่ 31 ต.ค.62 โดยราคาหุ้นปรับตัวแรงเนื่องจากพื้นฐานบริษัทไม่แกร่งโดยเห็นได้จากธุรกิจขาดทุนต่อเนื่องนับตั้งปี 2559 จนผู้สอบบัญชีไม่ให้ความเห็นเรื่องงบการการเงินในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามช่วงนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ตามตามข้อตกลงและให้ชำระหนี้แก่ธนาคารให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 นั้น ด้านฝ่ายบริหารของบริษัทจึงได้เจรจากับฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารโดยตรง

โดยธนาคารได้กำหนดให้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งฝ่ายบริหารของบริษัท จะปรึกษาและเจรจากับธนาคารเพื่อปรับปรุงเงื่อนไข การปรับโครงสร้างหนี้ในครั้งนี้ให้แล้วเสร็จตามกำหนดต่อไป

 

อันดับ 4 บริษัท พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PE  โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับลง 70.00%  จากยืนที่ระดับ 0.20 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 อ่อนตัวลงมามาอยู่ที่ระดับ 0.06 บาท ณ วันที่ 31 ต.ค.62 โดยราคาหุ้นอ่อนตัวลงแรงเนื่องจากยังไม่มีแผนธุรกิจออกมาโดดเด่นอย่างไรก็ตามในด้านของพื้นฐานบริษัทกลับมามีกำไรในปี 2561 ขณะที่งวด 9 เดือนปี 2562  มีกำไรสุทธิ 16.51 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 32.88 ล้านบาท

โดยบริษัทดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจบริการทางการเงินได้แก่ ธุรกิจการบริการรถเช่าเพื่อการดำเนินงาน (Operating Lease) ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ธุรกิจการให้บริการสินเชื่อเพื่อ ธุรกิจต่างๆ และธุรกิจการให้บริการจัดการสินเชื่อ ตรงนี้คาดว่าจะทำให้ราคาหุ้นกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

 

อันดับ 5 บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC โดยราคาหุ้นในช่วง 10 เดือนปรับลง  70.00% จากยืนที่ระดับ 0.40 บาท ณ วันที่ 28 ธ.ค.61 อ่อนตัวลงมามาอยู่ที่ระดับ 0.12 บาท ณ วันที่ 31 ต.ค.62  โดยราคาหุ้นอ่อนตัวลงส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานธุรกิจขาดทุนหนักในปี 61 และผลงานครึ่งแรกปี 2562 ยังมีผลขาดทุนต่อทำให้นักลงทุนกังวลและทิ้งหุ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าด้วยแผนธุรกิจที่ยังมีต่อเนื่องจะช่วยหนุนให้ราคาหุ้นฟื้นตัวได้อีกครั้ง

ด้านนายภาสิต ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานครึ่งหลังปีนี้บริษัทและบริษัทย่อย ยังคงเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง หลังจากในช่วงไตรมาส 3/62 ได้รับงานใหม่แล้ว 3 โครงการ มูลค่ารวม 1,444.46 ล้านบาท

ขณะที่ยังมีงานที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่ยังไม่รับรู้รายได้อีกหลายโครงการ โดยเป็นงานของบริษัท จำนวน 8 โครงการ มูลค่างานที่เหลือ 2,866.23 ล้านบาท และงานของบริษัท สหการวิศวกร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จำนวน 11 โครงการ มูลค่างานที่เหลือ 5,992.38 ล้านบาท รวมเป็น 19 โครงการ มูลค่างานที่เหลือรวม 8,858.61 ล้านบาท

สำหรับงานที่ได้รับในช่วงไตรมาส 3/62 ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ตอน 1 มูลค่าโครงการ 633.01 ล้านบาท , โครงการก่อสร้างสายพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ตอน 3 มูลค่าโครงการ 293.69 ล้านบาท จากกรมทางหลวง และโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการพระราม 4 จากการไฟฟ้านครหลวง มูลค่างาน 517.76 ล้านบาท

ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button