พาราสาวะถี

ท่วงทำนองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงออกมาล่าสุด กับการบอกนักข่าวที่รอสัมภาษณ์อย่าถามเรื่องการเมืองเลย ด้วยข้ออ้างว่า “ฉันเหนื่อยแล้ว ไม่เอา ขี้เกียจดูข่าว” ก่อนจะบอกต่อว่ามีแต่ความขัดแย้ง เรามัวเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง คำถามที่ตามมาคือ แล้วประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เกิดจากใคร ขัดแย้งในประเด็นไหน ทำไมจึงยังคงอยู่ คนที่ยึดอำนาจและอาสามาแก้ไขทำไมจึงทำให้เรื่องนี้หมดหรือหายไปจากสังคมไทยไม่ได้


อรชุน

ท่วงทำนองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงออกมาล่าสุด กับการบอกนักข่าวที่รอสัมภาษณ์อย่าถามเรื่องการเมืองเลย ด้วยข้ออ้างว่า ฉันเหนื่อยแล้ว ไม่เอา ขี้เกียจดูข่าว” ก่อนจะบอกต่อว่ามีแต่ความขัดแย้ง เรามัวเสียเวลากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง คำถามที่ตามมาคือ แล้วประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เกิดจากใคร ขัดแย้งในประเด็นไหน ทำไมจึงยังคงอยู่ คนที่ยึดอำนาจและอาสามาแก้ไขทำไมจึงทำให้เรื่องนี้หมดหรือหายไปจากสังคมไทยไม่ได้

ปุจฉาตัวโตที่คนส่วนใหญ่สงสัยก็คือ การที่ความขัดแย้งคงอยู่มีคนได้ประโยชน์ใช่หรือไม่ เรื่องพรรค์นี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไร รู้และเห็นกันอยู่ เพียงแต่ว่า การปัดที่จะพูดเรื่องการเมืองของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ คงไม่อยากจะพูดถึงประเด็นการถือครองที่ดิน 1,700 ไร่ของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐมากกว่า เพราะส.ส.คนดังว่าเพิ่งขอถ่ายรูปคู่ท่านผู้นำด้วยการสวมกอดจนทำเอาชายชาติทหารเขินอาย ไปไม่เป็นเมื่อไม่กี่วันก่อน

ประเด็นเช่นนี้ไม่มีอะไรมาก เมื่อแกนนำพรรคสืบทอดอำนาจต่างพากันยืนยันว่าให้ดูที่ข้อกฎหมายเป็นหลัก และแนวโน้มของการตรวจสอบฟังจากปากของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ดูท่าว่าจะเป็นไปในลักษณะของการปราศจากความผิด ทุกอย่างดำเนินการถูกต้อง ยิ่งไม่ต้องกังวลอะไรมิใช่หรือ เว้นเสียแต่ว่า สิ่งที่อธิบายกันมาแล้วถูกผู้สื่อข่าวถาม หากข้อมูลที่ชี้แจงไม่สอดคล้องกัน นั่นก็จะมีปัญหากับกระบวนการตรวจสอบว่าตรงไปตรงมาหรือไม่

การตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐคงเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่ที่หนึ่งน่าจะดุเดือดเข้มข้นนั่นก็คือ คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบหรือกมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นั่งเป็นประธาน โดยพรรคสืบทอดอำนาจส่งสองกำลังเสริมอย่างปารีณาและ สิระ เจนจาคะ ไปแทนสองส.ส.ที่ใส่เกียร์ไปก่อนหน้า หลังจากที่เงื้อง่าและเล่นเกมยึดยื้อเข้าชี้แจงจาก พลเอกประยุทธ์ และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เวลานี้มีเป้าเพิ่มคือปมที่ดินปารีณา

โดยในส่วนของสองรายแรก คงยากที่จะได้เห็นการไปชี้แจงจนกว่ากระบวนการที่ยื่นตีความจะมีคำตอบ และวันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็รับลูกเรื่องที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นให้สอบแล้วว่ากมธ.ป.ป.ช.มีอำนาจเรียกสองพี่น้องตระกูลป.หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนั้นความน่าสนใจในการไล่บี้ของพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ต่อประเด็นนี้ก็จะลดน้อยถอยไป หันไปโจมตีเป้าหมายสำคัญที่ออกมาท้าทายและคอยตอดให้หงุดหงิดอยู่ตลอดเวลาดีกว่า

กระนั้นก็ตาม ฟังจากน้ำเสียงของปารีณาแล้วหาได้หวั่นเกรงต่อคำขู่ดังกล่าวของอดีตผบ.ตร.ไม่ มิหนำซ้ำ ยังขู่กลับด้วยว่า สัปดาห์หน้าติดตามให้ดีจะมีการประชุมเพื่อเปลี่ยนตัวประธานกมธ.ป.ป.ช. ก็น่าสนใจไม่น้อยโควตาดังกล่าวเป็นของพรรคฝ่ายค้าน แล้วจะเปลี่ยนตัวไปเป็นใคร จะใช้วิธีไหนหรืออย่างที่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ว่า ไปซื้อใครมาบ้าง” กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องให้ใครมายืนยันคนจำนวนไม่น้อยก็พร้อมที่จะเชื่อ เพราะพฤติกรรมการแจกกล้วยให้ลิงที่ยอมรับกันเองมันเหมือนเป็นตราประทับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำไปแล้ว

ขณะเดียวกัน พอเปิดประเด็นเช่นนี้ยิ่งทำให้ความพยายามเปลี่ยนตัวประธานกรรมาธิการคณะนี้ยิ่งยากลำบากเข้าไปอีก เพราะหากมีความพยายามในการขยับทำให้เกิดการเปลี่ยนจริง กรรมาธิการในซีกของฝ่ายค้านที่อยู่ร่วมคณะกันนั่นแหละจะถูกสังคมจับตามองอย่างเป็นพิเศษว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรหรือไม่ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นจะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกลิงต้องสงสัยไปรับกล้วยจากฝ่ายกุมอำนาจหรือไม่

นี่ไง! การเมืองเรื่องน่าเบื่อของท่านผู้นำ ความขัดแย้งที่บอกว่ายังคงมีอยู่มันเกิดจากอะไร หากลองไล่เรียงย้อนกลับไปดูกระบวนการของกมธ.ป.ป.ช. ทุกอย่างก็เดินตามกลไกปกติของสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับพบความพยายามที่จะออกมาปกป้องแกนนำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ถูกเชิญไปสอบ รวมทั้งประเด็นที่ถูกเรียกก็เป็นเหมือนตราบาปที่ติดตัวรัฐบาลชุดนี้มาตลอด เพราะการนำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น มันชัดเจนว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าต้นเหตุแห่งความขัดแย้งในแต่ละเรื่องนั้นมันมีที่มาที่ไป กรณีกมธ.ป.ป.ช.ก็เช่นเดียวกัน หากไม่ใช่เพราะต้องการปกป้องผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ก็คงไม่ส่งคนประเภทชวนทะเลาะไปเป็นกรรมาธิการ นั่นหมายความว่า มีความประสงค์จะไปตีรวน สร้างความปั่นป่วนและก่อความขัดแย้งอย่างเต็มที่ นี่หรือคือแนวทางที่อ้างเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและการเป็นนายกฯ ที่ผ่านการเลือกตั้ง ที่ท่านผู้นำเพิ่งไปประกาศคราวไปครม.สัญจรไม่กี่วันก่อน

ไหน ๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้แล้ว มีการหาเหตุผลมาหักล้างคำพูดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจว่าไม่ควรจะพูดว่าเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ได้ยกเอา 10 เหตุผลมาอธิบาย แต่จะขอยกมาประกอบซักเล็กน้อย เช่น พลเอกประยุทธ์ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเอง แม้สังคมจะพอคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าใครจะกลับมารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง แต่ต้องรอถึงวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครเจ้าตัวถึงตอบรับให้พรรคสืบทอดอำนาจเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ

ที่น่าสนใจที่สุดคือ ระบบการเลือกตั้งและกติกาต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญนั้น เขียนขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือกรธ.ที่คสช.แต่งตั้งขึ้น เท่านั้นยังไม่พอ รายละเอียดที่ต้องเขียนไว้ในกฎหมายลูกทั้งกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ต่างก็เขียนขึ้นโดยกรธ.ชุดเดิม และผ่านการพิจารณาโดยสนช.ที่คสช.แต่งตั้งมาเองอีกเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่า กติกาการเลือกตั้งครั้งนี้เขียนขึ้นโดยคนของคสช. ทั้งหมด

ขณะที่ระบบเลือกตั้งใหม่ที่ชื่อว่าจัดสรรปันส่วนผสม ก็เขียนขึ้นมาเพื่อให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ได้ ส.ส.จากระบบแบ่งเขตจำนวนมากเสียเปรียบ คือความจงใจทำลายพรรคเพื่อไทยโดยตรงและก็ได้ผลลัพธ์เช่นนั้น นอกจากนี้ยังช่วยให้พรรคการเมืองขนาดกลางได้เปรียบและได้จำนวนส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพรรคเล็กได้ส.ส.เอื้ออาทร แต่หลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์และประจานคงเป็นคำประกาศของแกนนำพรรคที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา” เช่นนี้หรือคือนายกฯ เลือกตั้งที่น่าภาคภูมิใจ

Back to top button