5 โบรกฯยกมือเชียร์ “ซื้อ” CPF รับอานิสงส์ราคาไก่พุ่งหนุนผลงานโตไม่ยั้ง

5 โบรกฯยกมือเชียร์ “ซื้อ” CPF รับอานิสงส์ราคาไก่พุ่งหนุนผลงานโตไม่ยั้ง


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์ หลังมีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF พร้อมคาดการณ์ว่า ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามราคาไก่และราคาหมูปรับตัวขึ้นในระดับสูง จากการปัญหาสุกรขาดตลาดในประเทศจีนและเวียดนาม เนื่องจากเกิดโรคอหิวาต์แอฟริการะบาด อีกทั้งยังจะได้รับอานิสงส์จากเทศกาลตรุษจีนในช่วงเดือนม.ค. 2563 อีกด้วย

โดย นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” ประเมินราคาเป้าหมายหุ้น CPF ที่ 35 บาท/หุ้น คาดกำไรสุทธิทั้งปี 2562 เติบโต 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน บวกกับในช่วงไตรมาส 1/63 ธุรกิจฟื้นตัวชัดเจน จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงปัญหาสุกรขาดตลาดในประเทศจีนและเวียดนาม เนื่องจากเกิดโรคอหิวาต์แอฟริการะบาด หนุนให้ราคาเนื้อสัตว์ในภูมิภาคปรับสูงขึ้น อาทิ ราคาสุกรในเวียดนามปรับสูงขึ้นถึงกว่า 88% ในรอบ 4 เดือน จนล่าสุดทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลบวกต่อธุรกิจสุกรในเวียดนามของ CPF (7% ของรายได้รวม)

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” ประเมินราคาเป้าหมาย CPF ที่ 34.50 บาท/หุ้น โดยทิศทางกำไรปี 2562 เพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบจากปีก่อน ขับเคลื่อนจากราคาสุกรและไก่ในประเทศเป็นขาขึ้น รวมถึงผลดำเนินงานในต่างประเทศก็ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน และยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี โดยระยะสั้น คาดกำไรได้แรงหนุนจากราคาไก่ไทยเพิ่ม และต่างประเทศเพิ่ม (หมูเวียดนาม + หมูและไก่จีน)

รวมทั้ง นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” CPF ราคาเป้าหมาย 33 บาท/หุ้น อิง SOTP ราคาหุ้นยังไม่ได้ priced in ปัจจัยบวกทั้งหมดเพราะซื้อขายกันที่ PER เพียง 14 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (-0.5SD below 5-yr average PER)

ทั้งนี้มีปัจจัยหลักคือ CPF จะได้ประโยชน์จากราคาหมูที่ปรับตัวขึ้นทั้งในไทยและเวียดนาม โดยคาดว่าราคาหมูเวียดนามจะทรงตัวในระดับสูงที่ 70,000 vnd/kg.จาก 55,000 vnd/kg.ในเดือนต.ค.และราคาหมูในไทยที่ระดับ 60 บาทต่อกก. จาก 54 บาทต่อกก.เมื่อเดือนต.ค. และ CPF จะได้ประโยชน์จากการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเลื่อนและยกเลิกการแบนสารเคมีทางการเกษตรทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังอยู่ในระดับต่ำ

อีกทั้งยังคงประมาณการกำไรปกติปี 2562 ที่ 9.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากราคาหมูที่ฟื้นตัวขึ้น และกำไรปกติปี 2563 ที่ 10.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากราคาหมูที่อยู่ในระดับสูงหลังผ่านพ้น ASF ราคาหุ้นเคลื่อนไหว inline กับ SET ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่ outperform SET +9% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากการคลายกังวลเรื่อง  ASF โดยธุรกิจหมูในเวียดนามผ่านจุดต่ำสุดและดีขึ้นแล้ว

เช่นเดียวกับ นักวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ แนะนำ “ซื้อ” CPF ประเมินราคาเป้าหมาย 31 บาท/หุ้น อิงค่า PER ที่ 16 เท่า คาดว่าภาวะธุรกิจของ CPF ในปี 2563 จะดีขึ้น เนื่องจากราคาขายหมูมีแนวโน้มที่ดีขึ้นทั้งไทย จีนและเวียดนาม เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยคาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซัพพลายหมูจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

โดยราคาหมูในประเทศเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยยะมาอยู่ที่  60,000-67,000 ดอง/กิโลกรัมและสูงถึง 80,000 ดอง/กิโลกรัมในบางพื้นที่ ซึ่งสูงกว่าราคาเฉลี่ยไตรมาส 3/62 ที่ 38,422 ดอง/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 74% QTD ด้านราคาหมูในจีนอยู่ที่ประมาณ 35 หยวน/กิโลกรัม สูงกว่าราคาเฉลี่ยในไตรมาส 3/62 ที่  22 หยวน/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 59%QTD ซึ่งในช่วงที่โรคอหิวาห์หมู (ASF) ระบาดในเวียดนามและจีนนับตั้งแต่ เม.ย. 62 ทำให้ซัพพลายขาดแคลนอย่างมาก

ทั้งนี้ปัจจุบันภาวะขาดแคลนดังกล่าวฟื้นตัวแล้ว แต่คาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซัพพลายหมูจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผลประกอบการซึ่งรวมถึงรายได้และกำไรในจีนและเวียดนามผ่านทาง CPP Hong Kong ถือเป็น 40% ของผลประกอบการ CPF เราคาดผลประกอบการในเวียดนามและจีนของ CPF จะดีขึ้นเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนอย่างมีนัยยะ

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่มีความวิตกกังวลก่อนหน้านี้คือ หากสหรัฐฯ และจีน ตกลงเจรจาการค้ากันได้ จะทำให้สหรัฐฯ ส่งออกไก่ไปขายในประเทศจีนได้อย่างคล่องตัว ซัพพลายไก่ในจีนจะมากขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไก่จากไทยไปจีน แต่ขณะนี้การเจรจาการค้าคาดว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีก เนื่องจากสหรัฐฯ ทำสัญญาสนับสนุนฮ่องกง ทำให้จีนไม่พอใจและมีผลต่อการเจรจาการค้าฯ

ขณะเดียวกันราคาหมูและไก่ในประเทศไทยก็ฟื้นตัวดี ก่อนหน้านี้ข่าวการแพร่ระบาดของโรค ASF เข้ามาในประเทศไทยทางตอนเหนือ ทำให้ผู้ประกอบการกลัวและเร่งนำหมูออกขายเพื่อสกัดการขาดทุน ส่งผลให้ซัพพลายหมูในประเทศลดน้อยลง ปัจจุบันราคาหมูไทยในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 60 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าเดือน ต.ค. ที่  54 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน และราคาไก่ไทยในเดือน พ.ย. อยู่ที่  37 บาท/กิโลกรัม สูงกว่าเดือน ต.ค. ที่ 34 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน

ส่วนประเด็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทยมีมติไม่แบนสารไกลโฟเซต และมีมติเลื่อนแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมจะเริ่มยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ เป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 เป็นการผ่อนคลายอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เนื่องจากหากมีการแบนสารไกลโฟเซต จะมีผลต่อแหล่งวัตถุดิบนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองจากต่างประเทศ โดยอาจจะไม่สามารถนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น

ส่วน นักวิเคราะห์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” CPF ประเมินราคาเป้าหมาย 28 บาท/หุ้น คาดไตรมาส 4/62 ต่อเนื่องจนถึงปี 2563 จะเป็นช่วงที่ดีของบริษัทเนื่องจากราคาหมูในเวียดนามที่ปรับตัวขึ้นล่าสุดอยู่ที่ 5.4 หมื่นดอง / กก. (เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบจากเดือนก่อน) สำหรับเดือน ต.ค. เช่นเดียวกับราคาหมูและไก่ตามความต้องการที่สูงขึ้นของประเทศจีน และคาดว่าราคาจะยังทรงตัวได้ระดับสูงจนกว่า จีนจะกลับมาผลิตได้

 

Back to top button