“พาณิชย์” หารือตุรกีผลักดันเจรจา FTA สู่มูลค่าการค้าเป้าหมาย 2 พันล้านดอลล์ฯ ภายในปี 63

"กระทรวงพาณิชย์" หารือตุรกีผลักดันเจรจา FTA สู่มูลค่าการค้าเป้าหมาย 2 พันล้านดอลล์ลาร์ ภายในปี 63


นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการหารือกับ นางเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทยว่า ไทยและตุรกีพร้อมที่จะสานต่อและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเพื่อให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายบรรลุเป้าหมาย 2,000 ล้านดอลลาร์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะร่วมกันผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกีให้เสร็จภายในปี 2563

โดยที่ผ่านมาได้มีการเจรจากันมาแล้ว 6 รอบ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและการหารือทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางเยือนตุรกี เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรต่างๆ อาทิ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง จำนวน 12 ฉบับ คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการค้ากว่า 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำโอกาสในการขยายธุรกิจ โดยใช้ที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดเด่นของทั้งสองประเทศในการเป็นประตูการค้าระหว่างกัน

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังตกลงที่จะร่วมกันดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้าต่างๆ อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะนำมาสู่การขยายมูลค่าการค้าอย่างยั่งยืนในระยะยาว ในโอกาสนี้ได้เชิญฝ่ายตุรกีเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมทั้งเชิญนักธุรกิจตุรกีเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทย เช่น งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair 2020 และงาน THAIFEX เป็นต้น ขณะที่ฝ่ายตุรกีแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ เพื่อกระตุ้นการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน

ปัจจุบัน ตุรกีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทยในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง การค้าระหว่างไทยกับตุรกีในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,378 ล้านดอลลาร์ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด และในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,427 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในตุรกี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับสาขาที่ไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุน ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม สปา ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดประชุมและนิทรรศการ อุตสาหกรรมประมงและเกษตรแปรรูป รวมทั้งการผลิตอาหารฮาลาล

Back to top button