สงครามปูพรมของ CRC

เปิดตัวมาแล้ว สำหรับหุ้นขนาดยักษ์เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มจิราธิวัฒน์นำเสนอเพื่อระดมทุนเกือบ 8.0 หมื่นล้านบาท


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

เปิดตัวมาแล้ว สำหรับหุ้นขนาดยักษ์เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มจิราธิวัฒน์นำเสนอเพื่อระดมทุนเกือบ 8.0 หมื่นล้านบาท

การเปิดตัว CRC จะเรียกว่าเป็นการเติมหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่รายที่สามในรอบ 1 ปี ของ

ตลาดหุ้นไทย แต่จะถือว่าเป็นรายแรกของปี 2563 ที่จะติดตามมาด้วยหุ้นขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันคือ PTTOR ในปีนี้ในเวลาอันเหมาะสม ก็ย่อมได้

การเข้ามาระดมทุนของหุ้นขนาดใหญ่จะช่วยให้มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทยโป่งพองขึ้น ใกล้เคียงสิงคโปร์มาก แม้จะยังไม่อาจเทียบได้

วันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ปรึกษาการเงิน และผู้บริหารของ CRC เปิดตัวเคาะราคาเพื่อเตรียมเสนอขายหุ้น IPO ครั้งประวัติศาสตร์ (ที่มีคนแอบอ้างว่าเป็นหุ้น IPO ค้าปลีกใหญ่สุดในโลก) โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,860.1 ล้านหุ้น ในราคาจองซื้อที่ 40-43 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 74,404-79,984 ล้านบาท นับเป็น IPO ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย โดยจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้น CRC ระหว่างวันที่ 29–31 มกราคม และ 3 กุมภาพันธ์ 2563 และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

การเคาะราคาเปิดตัวคราวนี้ มีวิศวกรรมทางการเงินแบบ  “3-in-1” อยู่ด้วย โดยแบ่งเป็น 

(1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,331 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ซึ่งไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน โดยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ROBINS’ ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ผ่านการแลกหุ้น (Share Swap) และหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายและจัดสรรให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก

(2) หุ้นเก่าหรือสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Hawthorn Resources Limited (ผู้ถือหุ้นเดิม) จำนวนไม่เกิน 360 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.0% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ถูกแบ่งออกไปโปะกับหุ้นใหม่บางส่วน (รวมแล้วถือเป็นหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option หรือ Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้) จะถูกนำไปใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) ในช่วง 1 เดือนแรกที่เข้าเทรดในตลาดรอง

(3) พร้อมเดียวกัน CRC ยังทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ROBINS (ที่จะถูกถอนออกจากตลาดฯ เป็นแค่บริษัทใต้ร่มเงาของ CRC) ในราคาเสนอซื้อ 66.50 บาทต่อหุ้น เพื่อแลกกับหุ้น IPO ของ CRC ตามช่วงอัตราแลกหุ้นเบื้องต้นที่ 1.39-1.66 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ของ CRC ต่อ 1 หุ้นสามัญเดิมของ ROBINS ในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 (รวม 25 วันทำการ)

การระดมทุนของ CRC ครั้งใหญ่ เทียบกับการระดมทุนของ AWC และ BAM จะเห็นถึงความต่างกันที่ชัดเจน

กลางปี 2562 กลุ่มสิริวัฒนภักดี (หรือกลุ่มเสี่ยเจริญ) ทำการระดมทุนจำนวนมหาศาล ด้วยการขายเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้นของ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ในราคาจองหุ้นละ6.00 บาท โดยมีพี่เลี้ยงชั้นดีอย่าง บล.บัวหลวง, บล.ภัทร และ บล.กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ร่วมกับ FA จากต่างประเทศอีก 3 ราย ได้เงินไป 4.8 หมื่นล้านบาท เพื่อรุกในธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกเหนือจากการเป็นทั้งเจ้าของและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด 29 แห่งประเภทหารายได้จากค่าเช่า 3 ประเภทหลัก (ธุรกิจโรงแรม 60% และธุรกิจอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก รวมกันอีกปีประมาณ 40%) มีสินทรัพย์รวม 92,759.15 ล้านบาท หนี้สินรวม 67,561.93 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 25,197.22 ล้านบาท

หลังระดมทุนเสร็จ สินทรัพย์ของ AWC โป่งพองเป็นมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท จากการ “ลดหนี้” มหาศาล และทำให้มีกำไรเพิ่มทวีจากต้นทุนการเงินที่ต่ำลง

ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน BAM ทำการระดมทุนเพื่อ “หาเงินไปคืนหนี้” ด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่แค่ 280 ล้านหุ้น แต่ขายหุ้นสามัญเดิมของกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินอีกมากถึง 1,255 ล้านหุ้น และอาจจะมีหุ้นกรีนชูอีกไม่เกิน 230 ล้านหุ้น (เอามาพยุงราคาเดือนแรกที่เทรด) รวมหุ้นทั้งหมดไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 5.00 บาท เป็นราคาขาย 17.50 บาท ได้เงินไป 2.68 หมื่นล้านบาท แต่มีเงินเข้ากิจการแค่เศษเสี้ยว 4.9 พันล้านบาท ที่เหลือกองทุนฟื้นฟูฯ งาบเพื่อถอนทุนเกือบหมด

CRC ประกาศเป้าหมายในการระดมทุนคราวนี้ นอกเหนือจากการลดหนี้ และเสริมสภาพคล่องทางการเงินด้วยการใช้เงินที่ระดมมาได้บางส่วนทำการปรับปรุงสาขาต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ และการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เพื่อโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (ยังติดท้ายห้อยพ่วงท้ายคือ การมุ่งขยายความสำเร็จในระดับโลกอย่างมั่นคงในระยะยาว) ที่ถือว่า สะท้อนท่าทีเชิงรุกในสงครามค้าปลีก (ซึ่งยังไม่จบง่าย) ที่ชัดเจนใน “ปูพรม” ซึ่งน่าจะทำให้คู่แข่งหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปตามกัน ดังนี้คือ

  1. การขยายสาขาใหม่ของห้างสรรพสินค้าโรบินสันและโรบินสันไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ร้านค้าปลีกขนาดย่อยและซูเปอร์มาร์เก็ต
  2. การขยายสาขาของไทวัสดุร้านขายวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน
  3. การขยายสาขาของบิ๊กซี/GO! ในประเทศเวียดนาม

การระดมทุนมหึมาของ CRC จึงดูเร้าใจไม่มีจืด ไม่ควรต้องพะวงกับหุ้นกรีนชูแต่อย่างใด แม้อัตรากำไรสุทธิในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อาจจะต่ำเตี้ยแค่ 4-6% ก็ตาม

Back to top button