ศึกซักฟอกรัฐบาลฯ วันที่ 2 “บิ๊กตู่” โต้ “ฝ่ายค้าน” โจมตีใช้ ม.44 เอื้อประโยชน์เอกชน!

ศึกซักฟอกรัฐบาลวันที่ 2 “บิ๊กตู่” โต้ “ฝ่ายค้าน” โจมตีใช้ ม.44 เอื้อประโยชน์เอกชน-ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล วันที่สอง (25 ก.พ.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ใช้สิทธิ์ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า การชี้แจงของรัฐบาลมีความจำเป็นต้องพูดถึงหลายกระทรวง แม้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลและกำหนดแนวทางการทำงาน แต่ไม่ได้เป็นคนทำงานทั้งหมดเพียงผู้เดียว ตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาแล้ว โดยขอให้ประชาชนรับฟังข้อเท็จจริงและคำตอบจากรัฐบาล เพื่อให้เกิดการรับรู้และสร้างความปรองดอง ไม่ให้เกิดการแบ่งฝ่ายโดยไม่มีหลักการ

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ชี้แจงถึงกรณีการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครว่า เป็นโครงการของเอกชน เพื่อเป็นภูมิสถานอยู่คู่กับแผ่นดินบนที่ดินราชพัสดุ ไม่ใช่โครงการของรัฐ และไม่มีการใช้งบประมาณของรัฐ โดยเมื่อเอกชนสร้างเสร็จแล้วจะยกให้กับกรมธนารักษ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 4,423 ล้านบาท

ส่วนข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านที่ระบุว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เอกชนได้มีหนังสือขอผ่อนผันการชำระเงิน ซึ่งทำให้ต้องมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน แต่เป็นการให้ความเป็นธรรมและต้องมีการเยียวยาให้กับเอกชน

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชี้แจงประเด็นของนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุนอย่างการใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลและกิจการโทรคมนาคมที่เจอทางตัน ว่าเพราะผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงได้รวมตัวกันยื่นเรื่องให้รัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตของประเทศ ประชาชนเดือดร้อน ผู้ประกอบการเดือดร้อน…การออก ม.44 ของรัฐบาล คสช.ในอดีตนั้น เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดภาวะทางตันของประเทศ ไม่ใช่เพื่อนายทุนคนใดคนหนึ่ง ทุกคนได้ประโยชน์หมด”

โดยเมื่อรัฐบาลรับมอบคลื่นทีวีดิจิทัลกลับคืนมาแล้วได้นำออกประมูลได้เงินกว่า 5.5 หมื่นล้านบาทขณะที่ทีวีดิจิทัลมีหนี้ 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้วทำให้มีรายได้ส่งเข้ารัฐกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังจากแก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และสามารถประมูล 5G ได้ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน. นายพุทธิพงษ์ กล่าว

Back to top button