MTC-KTC-SAWAD รูดกราว! วิตกรายได้หด หลังครม.ไฟเขียวแบงก์รัฐ ปล่อยกู้ฉุกเฉิน-พิเศษ

MTC-KTC-SAWAD รูดกราว! วิตกรายได้หด หลังครม.ไฟเขียวแบงก์รัฐ ปล่อยกู้ฉุกเฉิน-พิเศษ


ผู้สื่อข่าวรายงาน ราคาหุ้นกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ปรับตัวร่วงหนัก นำโดย MTC-KTC-SAWAD คาดกังวลวิตกรายได้หดหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมาตรการเยียวยาหลายด้าน โดยเฉพาะมาตกรให้แรงงานนอกระบบประกันสังคมเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ไปเป็นลูกหนี้นอกระบบ โดยให้ให้สินเชื่อ 1 หมื่นบาท/ราย คาดประดังกล่าวกดดันให้รายได้ลดลง ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลและเทขายหุ้นดังกล่าว

โดยราคาหุ้นบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC อยู่ที่ 31.50 บาท ลบ 3.50 บาท หรือ 10% สูงสุดที่ 38.25 บาท ต่ำสุดที่ 29.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 911.32 ล้านบาท

ส่วนราคาหุ้น บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD อยู่ที่ 36.50 บาท ลบ 4.75 บาท หรือ 11.52% สูงสุดที่ 44.25 บาท ต่ำสุดที่ 36.25 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 679.90 ล้านบาท

ด้านราคาหุ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC อยู่ที่ 24.30 บาท ลบ 2.20 บาท หรือ 8.30% สูงสุดที่ 28 บาท ต่ำสุดที่ 23.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 883.44 ล้านบาท

โดยวันนี้(24 มี.ค.63) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการระยะที่ 2 เพื่อลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม ทั้งแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ โดยชุดแรกเป็นมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง ข้อที่ 1 จะสนับสนุนเงินเลี้ยงชีพเดือนละ 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อเกินกว่านั้นก็ยังสามารถต่อเวลาออกไปได้อีก

ข้อที่ 2 มาตรการสินเชื่อฉุกเฉินวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทเสริมสภาพคล่องเพื่อป้องกันไม่ให้ไปเป็นลูกหนี้นอกระบบ โดยธนาคารของรัฐ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย เป็นหลักในการให้สินเชื่อ 1 หมื่นบาท/ราย อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน

ข้อที่ 3 สินเชื่อพิเศษ วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท โดยจะให้สินเชื่อมีหลักประกัน 5 หมื่นบาท/ราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน

ข้อที่ 4 สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 2 พันล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยกับประชาชนไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน

พร้อมกันนั้นจะลดภาระให้กับแรงงานด้วยการยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งการยื่นแบบและชำระภาษีออกไปเป็นเดือน ส.ค.63 ให้หักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น จาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงรายละเอียดของมาตรการดูแลและเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย 8 มาตรการ

1.มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่น ๆ เป็นต้น

2.โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธ.ค.63

3.โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธ.ค.63

4.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.10% ต่อปี และ สธค.คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

5.มาตรการเสริมความรู้ พิจารณาดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

6.มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.63 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค.63 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

7.มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ โดยเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 63 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง

8.มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยยังเคลื่อนไหวในแดนบวก โดยดัชนี SET ณ เวลา 16.06 น. อยู่ที่ระดับ 1,039.54 จุด บวก 15.08 จุด หรือ 1.47% มูลค่าซื้อขาย 56,656.46 ล้านบาท

Back to top button