ครม.ไฟเขียวกรอบแผนงาน “บงกช-เอราวัณ” ลุยส่งมอบพท. PTTEP ตามแผน

ครม.ไฟเขียวกรอบแผนงาน "บงกช-เอราวัณ" ลุยส่งมอบพท. PTTEP ตามแผน


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบกรอบการส่งมอบสิ่งติดตั้งหรือแท่นผลิตปิโตรเลียมของแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในช่วงปี 65-66 ตามที่คณะกรรมการปิโตรเลียมเสนอแล้ว หลังจากนี้ผู้รับสัมปทานของทั้งสองแหล่งปิโตรเลียม จะต้องรายละเอียดการรื้อถอนเสนอมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รวมทั้งเรื่องการวางหลักประกันตามที่กฏหมายกำหนด

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้การส่งมอบพื้นที่แก่ผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหม่ คือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP และพันธมิตรเป็นตามแผนทำให้สามารถผลิตปิโตรเลียมได้ต่อเนื่อง หลังหมดอายุสัมปทานได้ทันที ที่ระดับ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันจากทั้งสองแหล่ง ซึ่งจะทำให้การผลิตปิโตรเลียมของไทย เป็นไปอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน

ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม กล่าวว่า ได้รายงานครม.ว่า เชฟรอน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน ได้แจ้งเรื่องการส่งมอบแท่นผลิตปิโตรเลียมแก่รัฐ จำนวน 191 แท่น

โดยรัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ราว 142 แท่น ดังนั้น เชฟรอนจะต้องรื้อถอน 49 แท่น ส่วนแหล่งบงกชที่มี PTTEP เป็นผู้ดำเนินการนั้น จะส่งมอบแท่นผลิตปิโตรเลียมให้แก่รัฐ 50 แท่น โดยรัฐจะเก็บไว้ในประโยชน์ 46 แท่น ทำให้ปตท.สผ.จะต้องรื้อถอนราว 4 แท่น ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอมติ ครม.อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะแจ้งแก่ผู้ได้รับสัมปทานทั้ง 2 แหล่ง เพื่อปฎิบัติตามกฏหมายต่อไป

ทั้งนี้ จากบรรยากาศการหารือร่วมกันจนได้ข้อยุติเรื่องแผนการส่งมอบแท่นผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว หลังจากนี้เมื่อครม.อนุมัติกรอบการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแล้ว และหารือในรายละเอียดของแผนรื้อถอนเสร็จสิ้น ก็คาดว่ากลุ่มเชฟรอน ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณคงจะถอนฟ้องกรณีพิพาทเรื่องค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตเลียมแหล่งเอราวัณ ต่ออนุญาโตตุลาการ จากปัจจุบันที่กลุ่มเชฟรอนได้ระงับการฟ้องร้องกรณีข้อพิพาทดังกล่าวออกไปก่อน อย่างไรก็ตามทางกระทรวงพลังงาน ก็เตรียมหากการเจรจาไม่สามารถได้ข้อยุติ ก็อาจจะขอใช้งบกลางเพื่อว่าจ้างสำนักงานกฎหมายให้เตรียมพร้อมต่อสู้ข้อพิพาทต่อไป

ขณะที่ นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า เมื่อได้มติครม.อย่างเป็นทางการแล้ว ทางกรมฯจะทำหนังสือถึง ผู้ประกอบการสัมปทานทั้ง 2 แหล่งให้ทำแผนรายละเอียดการรื้อถอน ซึ่งจะมีวงเงินประมาณการค่าใช้จ่ายการรื้อถอน โดยทางกรมฯจะส่งให้บุคคลที่สาม เข้ามาประเมินมูลค่าการรื้อถอนทั้งแท่นและท่อต่างๆ เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

โดยกระทรวงก็ต้องนำเสนอรายงาน ครม. อีกรอบ ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบทั้งหมดก็จะแจ้งให้ทางผู้ประกอบการรื้อถอนและต้องมาวางเงินหลักค้ำประกันภายใน 120 วัน โดยหากทุกอย่างราบรื่นคาดก็ต้องใช้เวลา 5-6 เดือน กระบวนการเริ่มรื้อถอนก็จะเร็วสุดภายในเดือนก.ย.63

Back to top button