จัดกลยุทธ์ลงทุนเดือนเม.ย.รับ SET ผันผวน! เคาะ 14 หุ้นเด่นเน้น Defensive กำไรแข็งแกร่ง

จัดกลยุทธ์ลงทุนเดือนเม.ย.รับ SET ผันผวน! เคาะ 14 หุ้นเด่นเน้น Defensive กำไรแข็งแกร่ง


เข้าสู่การลงทุนเดือนเมษายน 2563 “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมกลยุทธ์การลงทุนพร้อมปัจจัยที่ต้องจับตาในการลงทุนมานำเสนอโดยอาศัยบทวิเคราะห์จาก 3 โบรกเกอร์ชั้นนำของไทยนำโดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ,บล.เคจีไอ,บล.ฟินันเซีย ไซรัส

โดยทั้ง 3 โบรกเกอร์มีมุมมองต่อทิศทางตลาดเดือนนี้ผันผวนสูงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนและยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นธีมการคัดหุ้นของเดือนนี้เน้นหุ้น Defensive ที่มีแนวโน้มกำไรแข็งแกร่ง และหุ้นที่ได้อานิสงส์จากกระแสการทำงานจากที่บ้าน และทยอยสะสมลงทุนระยะยาวแบ่งซื้อในช่วงตลาดผันผวน แต่ในขณะเดียวกันช่วงตลาดรีบาวด์ก็ควรขายล็อกกำไรไว้บ้าง รอย่อตัวซื้อคืน สำหรับหุ้นเด่นที่แนะนำในเดือนเมษายน คือ BAM,BJC,DTAC,PTTEP,RBF,SCC,TVO,  BCH,CPALL,SFLEX,CPF,HANA,EGCO,TRUE

 

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นเดือนเม.ย. แม้มีกองทุนชนิดพิเศษ SSFX และมาตรการการคลังชุดใหญ่ แต่คาดว่าดัชนีจะแกว่งขึ้นลงในกรอบกว้างและผันผวนมากขึ้นในช่วงประกาศผลประกอบการ (มีแนวโน้มแย่กว่าคาดและแย่ลงในไตรมาส2/63) หากโชคดี จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกและไทยชะลอในช่วงเดือนเม.ย. ตลาดหุ้นไทยอาจพบจุดต่ำสุดในช่วง มี.ค.-พ.ค. ดัชนีต่ำกว่า 1,000 จุด  ยังน่าทยอยลงทุนระยะยาว หุ้นแนะนำเดือนนี้ ได้แก่ BCH, BEM, CPALL, RBF, SFLEX

 

บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์การลงทุนในเดือนเมษายนคาดว่าดัชนี SET จะย่อลงหลังจากที่วิ่งขึ้นมาในช่วงปลายเดือนมีนาคมเนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

ข้อแรก เชื่อว่าแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่หนุนการฟื้นตัวของตลาดในช่วงที่ผ่านมา จะแผ่วลงในเดือนเมษายนหลังจากจบการทำราคาปิดงวดบัญชีก่อนปิดงบไตรมาส 1/2563 และผ่านพ้นช่วงเปิดขายกองทุนทริกเกอร์และกองทุน SSF พิเศษไปแล้ว

ข้อสอง มูลค่าหุ้นใน SET ดูไม่ค่อยน่าสนใจมากนักเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของตลาดไทย

ข้อสาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างมาก และการขยายมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมน่าจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในเดือนเมษายนและการปรับลด EPS น่าจะมีต่อไป

ข้อสี่ มองว่าตลาดน้ำมันดิบจะยังคงถูกกดดัน เพราะผลผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากซาอุดิอาระเบียจะเข้ามาในตลาด

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้นักลงทุนสะสมหุ้นเมื่อตลาดย่อลง เพราะคิดว่าเมื่อมีการใช้มาตรการทางสังคมอย่างที่ดำเนินการอยู่นี้ จะทำให้ครึ่งหลังของเดือนนี้เป็นจุดหักเหที่สำคัญของสถานการณ์ Covid-19 และอาจเห็นทิศทางที่ดีขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อได้

ทั้งนี้จากประมาณการ GDP ปีนี้ล่าสุดของที่ -3.9% และประมาณการ EPS แบบ bottom-up ที่ 77.0 ทำให้ประเมินว่าความเสี่ยงทางลงของ SET ในกรณีฐานของที่การติดเชื้อ Covid-19 ถึงจุดสูงสุดในกลางไตรมาส 2/2563 จะอยู่ที่ 960 จุด โดยอิงจาก forward earnings yield gap ที่ 7.0%

ดังนั้นมองว่าตลาดหุ้นจะย่อลงอีกรอบในเดือนเมษายน จึงยังคงแนะนำให้หลีกจากหุ้นกลุ่มหลักไปก่อน และเน้นเลือกหุ้นที่มีปัจจัยสนับสนุนแบบ bottom-up

โดยประเด็นแรกยังคงเหมือนที่แนะนำไว้ในบทวิเคราะห์กลยุทธ์เดือนที่แล้ว คือจีนน่าจะเป็นประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์ Covid-19 เร็วที่สุดในกลุ่มประเทศหลัก และประเด็นนี้น่าจะไปได้ดีกับธีมคำสั่งซื้อสินค้าในภาคอุตสาหกรรมกลับมาเพิ่มขึ้น และบริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับจีน ซึ่งหุ้นประเภทนี้แนะนำ CPF* และ HANA*

ส่วนประเด็นที่สอง ยังคงเน้นหุ้น defensive ที่มีแนวโน้มกำไรแข็งแกร่งอย่างเช่น BAM และ EGCO* ถึงแม้ว่าหุ้นสองตัวนี้จะถูกกระทบจากการที่ตลาดตกแรง แต่ปัจจัยพื้นฐานของทั้งสองตัวยังคงแข็งแกร่งไม่เปลี่ยนแปลง

ประเด็นสุดท้ายคือยังคงมองบวกกับกลุ่มสื่อสารในเดือนเมษายนจากกระแสการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งจะทำให้อุปสงค์การใช้ข้อมูล และรายได้จากบริการด้านข้อมูลของบริษัทสื่อสารเพิ่มขึ้น เลือก TRUE* เป็นหุ้นเด่นในธีมนี้

 

ด้านนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้  เปิดเผยว่า มุมมองตลาดหุ้นเดือน เม.ย.คาดว่าหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวชั่วคราวจากอานิสงส์การผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบเต็มที่ของธนาคารสำคัญของโลก ทั้งการลดดอกเบี้ยลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาล เพื่อพยุงเศรษฐกิจและลดความปั่นป่วนในตลาดการเงิน นอกจากนี้ รัฐบาลในหลายประเทศยังทยอยออกมาตรการเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย

โดยมองเป้าดัชนีหุ้นไทยในรอบนี้น่าจะฟื้นตัวจำกัดที่บริเวณ 1,140-1,200 จุด อิงมาจากปัจจัยทางเทคนิคที่เคยเป็นโซนจุดต่ำและจุดสูงหลายครั้งในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมองว่าหุ้นไทยมีโอกาสจะฟื้นตัวได้ แต่ต้องยอมรับว่าความผันผวนก็ยังสูงอยู่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ บล.ทิสโก้ยังคงกลยุทธ์การทยอยสะสมหุ้นแบบแบ่งซื้อในช่วงตลาดผันผวน แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงตลาดรีบาวด์ก็ควรขายล็อกกำไรไว้บ้าง รอย่อตัวซื้อคืน

สำหรับหุ้นเด่นที่แนะนำในเดือนเมษายน คือ BAM, BJC, DTAC, PTTEP, RBF, SCC และ TVO  ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่  1,070 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,010-1,020 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,165-1,170 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,190 จุด

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า แม้ว่าความไม่แน่นอนยังมีอยู่ แต่ก็มีลุ้นมากขึ้นว่าดัชนีหุ้นไทยอาจผ่านจุดต่ำสุดของภาวะหมีรอบนี้ไปแล้วที่บริเวณ 970 จุด หรือคิดเป็นอัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (P/BV) ที่ 1.1-1.2 เท่า ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียงเส้นแนวโน้ม P/BV ระยะยาวในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 51 ที่บริเวณ 0.5-0.6 เท่า และ 0.8-0.9 เท่า ตามลำดับ ผสานกับหุ้นไทยมีตัวช่วยเข้ามาพยุงตลาดมากขึ้น เช่น การประกาศซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน ที่นับตั้งแต่ต้นปีนี้มีวงเงินซื้อคืนรวมมากกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์, กองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) แบบพิเศษที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินทยอยไหลเข้าตลาดประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.-มิ.ย.)

และประเด็นสุดท้ายคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อควบคุมความผันผวนของตลาด เช่น การปรับเกณฑ์การขายชอร์ตจากราคาไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย เป็นราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย, การปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor และปรับเกณฑ์การหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) จาก 2 ระดับ เป็น 3 ระดับ

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button