GPI คาดรายได้ปีนี้หดตัว หลังเลื่อนจัดอีเว้นท์เซ่นโควิด-19 ระบาด

GPI คาดรายได้ปีนี้หดตัว หลังเลื่อนจัดอีเว้นท์เซ่นโควิด-19 ระบาด


นายพีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยอมรับว่ารายได้รวมปีนี้น่าจะปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 733.89 ล้านบาท  เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดการจัดแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด หรืองานอีเว้นท์ต่าง ๆ ได้ถูกเลื่อนออกไป โดยเฉพาะงานมอเตอร์โชว์ (Motor Show) จากเดิมที่มีกำหนดจัดงานดังกล่าวในช่วงปลายเดือนมี.ค.63 ได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนพ.ค.63

ขณะเดียวกันในกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น (Worst case) หากจำเป็นต้องเลื่อนจัดงานมอเตอร์โชว์ออกไปอีกจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังเชื่อว่าจะสามารถจัดงานดังกล่าวได้ภายในปีนี้ โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักของ GPI กว่า 80% มาจากกลุ่มธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด

เราค่อนข้างจะได้รับผลกระทบทั้งในส่วนของธุรกิจเดิม หรือโรงพิมพ์ มีเดีย แต่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักก็จะเป็นการจัดงานแสดงสินค้า หรืองานอีเว้นท์ โดยในไตรมาส 1-2 นี้ ก็เป็นงานมอเตอร์โชว์ ที่ถูกเลื่อนออกไป แต่ทั้งนี้เรายังมีความมั่นใจว่าจะสามารถจัดงานมอเตอร์โชว์ได้ เพราะมีการกำหนดจัดขึ้นใหม่แล้วเป็นปลายพ.ค.63 ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ดีขึ้น รัฐบาลอนุญาตให้จัดงานได้ เราก็มีความพร้อมที่จะจัดงาน แต่หากในกรณี Worst case ไม่สามารถจัดงานได้จริง ๆ ก็อาจจะเลื่อนออกไปได้อีกเป็นกลางปีนี้” นายพีระพงษ์ กล่าว

สำหรับการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์ (MW) ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ จำนวนทั้งสิ้น 7 แสนหุ้น หรือคิดเป็น 25.45% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของทรูเอ็นเนอร์จี โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 250 ล้านบาท ซึ่งมีแหล่งเงินมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ ที่มีอยู่ราว 500 ล้านบาท และจะส่งผลให้ทรูเอ็นเนอร์จี มีสถานะเป็นบริษัทร่วมของบริษัทฯ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทฯ ได้มีการชำระเงินการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวแล้วเป็นจำนวน 70 ล้านบาทของมูลค่าทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะทยอยชำระอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่าจากเงินทุนหมุนเวียนที่ยังมีอยู่ในขณะนี้ แม้จะนำไปลงทุนดังกล่าว บริษัทฯ ยังมีวงเงินคงเหลือที่เพียงพอ ที่จะรองรับและผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้

ทั้งนี้การเข้าลงทุนในครั้งนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาคืนทุน 5 ปี และคาดจะมี EIRR ประมาณ 10-11% โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ทั้งสิ้นปีละประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งปีนี้จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงไตรมาส 3/63 ทำให้บริษัทฯ จะสามารถรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 25.45% เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้เป็นต้นไป

ปัจจัยที่บริษัทฯ ตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ เพราะมองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF เป็นธุรกิจที่มีรายได้แน่นอนและมีความสม่ำเสมอในระยะยาว เนื่องจากมีการทำสัญญาขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ชัดเจน ประกอบกับทรูเอ็นเนอร์จีเป็นผู้ประกอบการที่มีเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า จึงมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการธุรกิจเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังใช้เชื้อเพลิงที่มาจากการแปรรรูปขยะชุมชน เป็นการช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นายพีระพงศ์ กล่าว

ด้านนายจำรัส เตชะนิธิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูเอ็นเนอรจี จำกัด ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กล่าวว่า หลังจาก GPI เข้าถือหุ้นในบริษัทฯ จะช่วยเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินแก่ทรูเอ็นเนอร์จี โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์ (MW) ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ มีความคืบหน้าการก่อสร้างกว่า 95% แล้ว

ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 3/63 โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้รับ Adder หรือส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย (Kwh) เพิ่มจากค่าไฟฐานเป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่เริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า  หลังจากนั้นราคารับซื้อจะเป็นตามราคารับซื้อพื้นฐานและนโยบายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

โดย ทรูเอ็นเนอร์จี ได้ทำสัญญารับกำจัดขยะโดยวิธีคัดแยกกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ มีอายุสัญญา 25 ปี (นับจาก 12 พฤศจิกายน 2558) เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากการประเมินปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ พบว่ามีปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบ 3 แห่ง รวมประมาณ 5 แสนตัน ในจำนวนนี้ประมาณ 70% สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต มั่นใจว่าจะมีปริมาณขยะเพียงพอต่อการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF ตลอดอายุสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า และได้วางแผนจัดหาแหล่งขยะอื่น ๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและข้อกำหนดตามประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ Code of Practice (COP) เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง เช่น การออกแบบอาคารเป็นระบบปิด, ติดตั้งปล่องระบายมลพิษทางอากาศที่มีความสูงตามหลักเกณฑ์ Good Engineering Practice

Back to top button