ECF เผยไตรมาส 1 ธุรกิจพลังงาน-เฟอร์นิเจอร์ส่งออกโต พร้อมลุยออนไลน์ กระตุ้นยอดขายในปท.

ECF เผยไตรมาส 1 ธุรกิจพลังงาน-เฟอร์นิเจอร์ส่งออกโต พร้อมลุยออนไลน์ กระตุ้นยอดขายในปท.


นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจช่วงไตรมาส 1/2563 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19  ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ตลาดในประเทศ ได้รับผลกระทบระยะสั้นจากลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดที่ต้องปิดสาขาชั่วคราวตามคำสั่งรัฐ การปรับกลยุทธ์ของบริษัทในขณะนี้ คือ พัฒนารูปแบบสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานให้มากขึ้น อาทิ การเพิ่มปลั๊กไฟ หรือช่องเสียบ USB สำหรับโต๊ะรับประทานอาหาร โต๊ะประชุม ชั้นวางของแบบฝังลำโพง เป็นต้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องอยู่บ้าน และทำงานจากที่บ้าน (Work from home) มากขึ้น

รวมถึงการเพิ่มจำนวนสินค้าเพื่อเสนอขายผ่านช่องทางออนไลน์ www.elegathai.com และร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ให้มากขึ้นจากเดิม ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ประชาชนจะใช้เวลาอยู่กับบ้านเพื่อสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แทนการออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาแนวโน้มยอดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนตลาดต่างประเทศยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่อย่างใด และยังนับเป็นโอกาสที่กลุ่มลูกค้าต่างประเทศ เริ่มตระหนักถึงการลดการพึ่งพาโรงงานผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เพียงรายใดรายหนึ่ง ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าที่มีการสั่งผลิตในประเทศมาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย เริ่มมีการติดต่อเข้ามาเพื่อขอให้เสนอราคาสินค้ามากขึ้น ซึ่งหากการเจรจาซื้อขายเป็นผลสำเร็จ ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้บริษัทมีลูกค้ารายใหม่จากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามออร์เดอร์สินค้าจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหม่ที่เริ่มสั่งซื้อกับบริษัทมีการหยุดชะงักชั่วคราว เนื่องจากการปิดประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ เพราะมีสัดส่วนการสั่งซื้อในปริมาณไม่มาก คาดว่าหากอินเดียเริ่มเปิดประเทศได้อีกครั้ง โอกาสในการสั่งซื้อสินค้าก็จะเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ด้านธุรกิจพลังงานทดแทนมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากเริ่มรับรู้รายได้ในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยในปีนี้ คาดว่าจะเห็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมารับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลภาคใต้ขนาด 7.5 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 220 MW มินบู ประเทศเมียนมาร์ ในช่วงเริ่มต้นของการจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ของเฟสที่ 1 ขนาด 50 เมกะวัตต์แรก ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 62 สามารถรับรู้รายได้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่เมียนมาร์ บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 20 ซึ่งจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาที่งบการเงิน ทั้งนี้บริษัทมีแผนจะเริ่มการก่อสร้าง เฟสที่ 2 ภายในไตรมาสที่ 2 นี้  อีกทั้งจะเน้นการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งหากครบทั้ง 4 เฟส บริษัทคาดการณ์รับรู้ส่วนแบ่งกำไรอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 80 – 100 ล้านบาทต่อปี

Back to top button