“ครม.” เคาะงบฯ 6.6 พันลบ. พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ดันติด TOP10 ส่งออกโลก ภายในปี 2570

"ที่ประชุม ครม." อนุมัติงบฯ 6.6 พันลบ. หนุนพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ตั้งเป้าติด TOP10 ประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก ภายในปี 2570


น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (2562-2570) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก”

โดยมีสินค้าเป้าหมาย อาทิ ข้าวและธัญพืช ปศุสัตว์ ประมง ผักและผลไม้ อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องปรุงรส เกษตรอินทรีย์ เครื่องดื่มสุขภาพ และยังมีกลุ่มสินค้าทีจะทำตลาดได้ดีในอนาคต เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ และกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร

ทั้งนี้แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว จะใช้งบประมาณประจำปี 2563-2566 ภายใต้งบบูรณาการและงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 6,671 ล้านบาท และการสนับสนุนจากภาคเอกชน 2,224 ล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าประสงค์ ประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตในอาเซียนในปี 2570 และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก

อีกทั้งในเชิงเศรษฐกิจ คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจากกลุ่มอาหารจะเติบโตขึ้นเป็น 1.42 ล้านล้านบาท รายได้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% ต่อปี และจะเกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ 0.48 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% ต่อปี

สำหรับมาตรการตามแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย

1) สร้างนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ สร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ให้มีนวัตกรรมอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้

2) สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมโครงการ อาทิ พัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหาร พัฒนาและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ฉลาด (Intelligence Packaging)

3) สร้างโอกาสทางธุรกิจ เป็นการเชื่อมโยงการผลิตสู่ตลาดโลกผ่านแพลตฟอร์ม ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยการเชื่อมโยงวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้ากับผลิตภัณฑ์อาหารและการท่องเที่ยว

และ 4) สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นการสร้างสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ระบบ Smart Farming กำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอาหารสดพรีเมี่ยม เช่น ชั้นคุณภาพเนื้อโคขุน เนื้อสัตว์และสัตว์น้ำปลอดสารปฏิชีวนะ และปลอดฮอร์โมน เป็นต้น

Back to top button