“พาณิชย์” เผย CPI เม.ย.63 หด 2.99% ต่ำสุดรอบ 10 ปี 9 เดือน เสี่ยงเงินฝืด หาก พ.ค.ยังติดลบ

"กระทรวงพาณิชย์" เผย CPI เม.ย.63 หด 2.99% ต่ำสุดรอบ 10 ปี 9 เดือน เสี่ยงเงินฝืด หาก พ.ค.ยังติดลบ


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ในเดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 99.75 ลดลง -2.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -2.03% จากเดือน มี.ค.63 โดยในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 63 เฉลี่ย -0.44%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน เม.ย.63 อยู่ที่ 102.82 เพิ่มขึ้น 0.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง -0.07% จากเดือน มี.ค.63 และช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) เฉลี่ย -0.50%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 105.03 เพิ่มขึ้น 1.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.08% จากเดือน มี.ค.63 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 96.79 ลดลง -5.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง -3.28% จากเดือน มี.ค.63

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.63 หดตัวแรงสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปี

นอกจากนี้ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รวมถึงสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการราคาลดลงจากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่ภาพรวมสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังขายตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจัยเรื่องภัยแล้ง

“การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ชนก ระบุเพิ่มเติมว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนเม.ย.ที่ลดต่ำลงอย่างมาก ได้สะท้อนถึงภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นขาลง ประกอบกับปัจจัยในประเทศเองที่ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ยังมีข้อจำกัดจากการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยมองว่าในปีนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศคงยากที่จะหวังพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก แต่การบริโภคในประเทศน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนได้มากกว่า ดังนั้น จึงต้องหวังพึ่งนโยบายและมาตรการต่างๆ จากภาครัฐเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศให้หมุนเวียนได้ต่อไป

“หลังจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาทแล้ว รัฐบาลควรจะเพิ่มเติมนโยบายที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ก็ยังต้องอยู่ในกรอบการดูแลด้านสาธารณสุข เพียงแต่อาจผ่อนปรนระเบียบบางอย่างลง เช่น การอนุญาตให้เปิดตลาดนัด เพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนได้ แต่ยังต้องอยู่ภายใต้การจัดระเบียบที่ดี” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบแต่มองว่าประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะการจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามคำจำกัดความทางวิชาการได้นั้น อัตราเงินเฟ้อจะต้องติดลบต่อเนื่องกัน 3 เดือนหรือ 1 ไตรมาส ประกอบกับราคาสินค้าและบริการต่างๆ ส่วนใหญ่จะต้องปรับตัวลดลง แต่สถานการณ์ของไทยในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังติดลบต่อเนื่องกัน 2 เดือน ขณะที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับลดลง

“ถึงตอนนี้ไทยยังไม่เข้าภาวะเงินฝืดตามคำจำกัดความทางวิชาการ เพราะจะเข้าเงินฝืดได้ เงินเฟ้อต้องน้อยกว่า 0 ติดต่อกัน 3 เดือน และราคาสินค้าส่วนใหญ่ต้องปรับลดลง…แต่ในเดือนต่อไปก็ยังมีโอกาส คาดว่าเดือนหน้าอัตราเงินเฟ้อน่าจะติดลบต่อ จากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/63 คาดว่าจะหดตัว -2.28% เนื่องจากราคาน้ำมันซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในการใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อยังไม่เห็นแนวโน้มของราคาขาขึ้น แต่อย่างไรก็ดี มองว่าในไตรมาส 3 และ 4 อัตราเงินเฟ้อน่าจะขยับดีขึ้น หากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาขับเคลื่อนได้ แม้จะยังไม่ได้กลับมาอยู่ในระดับปกติเท่าเดิม

ทั้งนี้ สนค.ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีนี้ไว้ที่ -1.0 ถึง -0.2% ส่วนจะมีการพิจารณาปรับเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่หรือไม่นั้น ต้องรอติดตามสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ก่อน

Back to top button