KTC ร่วง 4 วันติด! ไหลต่อกว่า 10% หวั่น “โควิด-19” กระทบยอดรูดบัตรไตรมาส 2 ลดลง

KTC ร่วง 4 วันติด! ไหลต่อกว่า 10% หวั่น "โควิด-19" ฉุดยอดรูดบัตรไตรมาส 2 ลดลง ปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 30 บ. ลบ 3.50 บ. หรือ 10.45% มูลค่าซื้อขาย 4.11 พันลบ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 30 บาท ลบ 3.50 บาท หรือ 10.45% สูงสุดที่ 34.50 บาท ต่ำสุดที่ 29.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 4.11 พันล้านบาท ทั้งนี้ ราคาหุ้น KTC ปรับตัวลง 4 วันติด นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 39 บาท เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2563 หรือคิดเป็นลดลง 23%

โดย บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” หุ้น KTC ราคาเป้าหมายที่ 36.25 บาท โดยมาตรฐานบัญชี TFRS9 ทำให้สามารถตั้งสำรองลด ส่งผลไตรมาส 1/63 มีกำไรเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ สถานการณ์ COVID-19 เริ่มดีขึ้น คาดครึ่งปีหลังปี 2563 การใช้จ่ายผ่านบัตรจะฟื้นตัว จากที่หดตัวหนักในไตรมาส 2/63 ทั้งนี้เพิ่งเข้า MSCI Global Standard อีกทั้งราคาปรับลดลงมาก จนเริ่มมี upside

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมปรับลดเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) ปีนี้ลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 15% หลังจากที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 4 เดือนแรกลดลง 7.6% แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/63 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรจะเติบโตได้ 2.2% แต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 ที่มีมาตรการการล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค.ต่อเนื่องถึงเดือน เม.ย. ทำให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงดังกล่าวลดลงสูงถึง 40%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน พ.ค.ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในเฟสแรก และคาดว่าจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการในระยะถัดไป โดยบริษัทได้เตรียมกิจกรรมส่งเสริมการขายรองรับการกลับมาเปิดของร้านค้าต่างๆ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนฟื้นตัวขึ้นด้วย

ทั้งนี้ นายระเทียร ยอมรับว่า ขณะนี้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่อยู่ในระดับ 4% เนื่องจากในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมามียอดการผิดนัดชำระสูงขึ้น และการชำระค่างวดปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บัตรส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นผู้มีรายได้ประจำก็น่าจะทำให้สถานการณ์ในระยะต่อไปดีขึ้นเมื่อทุกอย่างค่อย ๆ ปรับเข้าสู่ปกติ

“เรายอมรับว่าอัตราการผิดนัดชำระในเดือนเม.ย.สูงขึ้น และการชำระค่างวดปรับตัวลดลง แต่ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ซอฟท์โลนแน่นอน เนื่องจากบริษัทยังมีกระแสนเงินสดในมือค่อนข้างสูง ขณะที่ลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ประจำ แทบจะไม่มีลูกค้าที่เป็นฟรีแลนซ์เลย”นายระเฑียร กล่าว

Back to top button