RS ฮอตปรอทแตก! เดือนเดียวโกยรีเทิร์นเกิน 30% ลุ้นกำไรปี 63 เด่น รับธุรกิจคอมเมิร์ซหนุน

RS ฮอตปรอทแตก! เดือนเดียวโกยรีเทิร์นเกิน 30% ลุ้นกำไรปี 63 เด่น รับธุรกิจคอมเมิร์ซหนุน


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลบทวิเคราะห์ของหุ้นบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS หลังจากสังเกตเห็นว่า ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น RS ปรับตัวขึ้นสูงถึง 36% นับตั้งแต่ราคาอยู่ที่ระดับ 11.80 บาท เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2563 ขณะที่ราคาหุ้นวานนี้ (29 มิ.ย.2563) ปิดที่ 16.10 บาท ปรับตัวขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.26% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 323.98 ล้านบาท

โดยนักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น RS ในราคาเป้าหมาย 18 บาท/หุ้น โดยมองว่าผลการดำเนินงานของ RS ในช่วงครึ่งหลังปี 2563 จะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงแรกของปีนี้  จากแรงขับเคลื่อนหลักๆ ของธุรกิจ commerce ที่มีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่ม และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นในทุกๆไตรมาสของปีนี้ นอกจากนี้ การขายลิขสิทธิ์ คอนเทนต์ละคร ภาพยนตร์ และเพลงให้กับ OTT platform ยังได้รับการตอบรับที่ดีต่อเนื่อง อีกทั้งในไตรมาส 4/63 จะมีการจัดคอนเสิร์ตอีก 1 รายการ

อย่างไรก็ตาม RS ยังคงเป้ารายได้รวมปี 2563 ที่ 4,250 ล้านบาท เติบโต 18% จากปีก่อน, gross profit margin อยู่ที่ 50% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ net profit margin อยู่ที่ 13-15% ขยายตัวจากปี 2562

ดังนั้นฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของ RS อยู่ที่ 519 ล้านบาท เติบโต 43% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากรายได้จากธุรกิจ commerce ได้ตามเป้าที่บริษัทฯคาดที่ 2,600 ล้านบาท เติบโต 22% จากปีก่อน จะเป็น upside ต่อกำไรปี 2563 ที่ +10% หรือ +49 ล้านบาท

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัส COVI-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทั้งภาครัฐและเอกชน เศรษฐกิจหดตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงการใช้จ่ายโฆษณาที่หดตัวตาม หากพิจารณาเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตช่วง 13 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ จะเห็นได้ว่าอัตราการใช้สื่อโฆษณาลดลงมากที่สุดในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยเฉพาะในเดือน พ.ค.2563 ลดลง 33% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะกระทบกลุ่มการท่องเที่ยว กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ การส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจหดตัวกระทบถึงการใช้จ่ายสื่อโฆษณา

โดยภาพรวมการใช้จ่ายสื่อโฆษณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทรงตัว แต่ปี 2563 รับผลกระทบหนักสุด ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาโดยรวมมีมูลค่าประมาณปีละหนึ่งแสนล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลงเฉลี่ยปีละ 2% (CAGR ปี 2558 – 2562) และตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงเดือน พ.ค.2563 รวม 5 เดือนนี้ลดลง 12% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยเฉพาะในเดือนพ.ค.2563 มีมูลค่าการใช้จ่ายโฆษณารายเดือนต่ำสุดในรอบ 4 ปี อยู่ที่ 5,933 ล้านบาท ลดลง 33% เมื่อเทียบจากปีก่อน เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ทำให้ภาครัฐฯต้องมีมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดด้วยการประกาศให้บางธุรกิจหยุดดำเนินงาน หยุดกิจกรรมต่างๆ และประชาสัมพันธ์ให้ทำงานที่บ้าน (work from home) แทนการเดินทาง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกือบทุกภาคส่วนตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.2563 เป็นต้นมา

สำหรับส่วนแบ่งการตลาดการใช้จ่ายสื่อโฆษณาช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.2563) แบ่งเป็นสื่อโฆษณาทีวีมีสัดส่วนสูงสุด 68% ตามด้วยสื่อโฆษณานอกบ้าน (Out of Home Media) 14% , สื่ออินเทอร์เน็ต 6%, สื่อภาพยนตร์ 4% และอื่นๆรวม 8% ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ นิตยสาร

ทั้งนี้มองว่าสื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อออนไลน์ปีหน้าจะกลับเร็วกว่าสื่อโฆษณาอื่นในปีหน้า จากความหลากหลายของสื่อนอกบ้านและอัตราค่าโฆษณาที่ต่ำกว่าสื่อทีวี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8%( CAGR ปี 2558 – 2562) มาจากการขยายเส้นทางสื่อบนรถโดยสารของรถไฟฟ้า BTS, MRT เพิ่มขึ้น, สื่อโฆษณากลางแจ้งเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนป้ายโฆษณาภาพนิ่งเป็นป้ายโฆษณา LED Billboard รวมถึงขยายสื่อโฆษณาป้ายดิจิทัลในสนามบิน สื่อในห้างสรรพสินค้า เป็นป้าย Digital Screens มากขึ้น และการขยายสื่อโฆษณาในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งช่วยดึงดูดความสนใจของคนดู ทำให้ผู้ใช้สื่อโฆษณาสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้นเติบโตตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากขึ้น สำหรับสื่อออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้สื่อ social media เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่หุ้น Top Pick ของบล.ทิสโก้ ในกลุ่มสื่อโฆษณานอกบ้านคือ PLANB และ VGI แม้ว่าในปีนี้จะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กระทบเศรษฐกิจถดถอยส่งผลต่อการใช้จ่ายสื่อโฆษณารวมลดลง อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มสื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อออนไลน์ที่มีความดึงดูดน่าสนใจเติบโตตามเทรนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการขยายปรับโมเดลธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนสื่อธุรกิจทีวีรวมธุรกิจพาณิชย์ที่มีอัตราเติบโตสูงคือ RS จากสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่เพิ่มขึ้นสูงและมีอัตรามาร์จิ้นมากกว่าสื่อธุรกิจทีวี

Back to top button