สึนามิเดือนตุลาฯ ภาค 2 (นรต.)

บทความสึนามิเดือนตุลาฯ ของผม คงจะได้แพร่หลายไปในโลกออนไลน์กลุ่มต่าง ๆ พอสมควร จึงเกิดผลกระทบกลับมาที่คำชี้แจงของแบงก์ชาติถึงบรรณาธิการข่าวหุ้น


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

บทความสึนามิเดือนตุลาฯ ของผม คงจะได้แพร่หลายไปในโลกออนไลน์กลุ่มต่าง ๆ พอสมควร จึงเกิดผลกระทบกลับมาที่คำชี้แจงของแบงก์ชาติถึงบรรณาธิการข่าวหุ้น ลงนามแทนผู้ว่าการธปท.โดยนางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผอ.อาวุโสฝ่ายลื่อสารองค์กร เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา

“ขอขอบคุณข่าวหุ้นที่เสนอข่าว แต่บทความก็เป็นการนำเสนอข้อมูลซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และไม่เป็นประโยชน์ในภาวะปัจจุบันที่ประเทศต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาผลกระทบและการแพร่ระบาดโรคโควิด-19”

นั่นคือประเด็นสรุปของแบงก์ชาติจากปฏิกิริยาต่อบทความ “สึนามิเดือนตุลาฯ” ดังกล่าว

คำชี้แจงข้อที่ 1 ก็พูดถึงความจำเป็นเฉพาะหน้า ที่แบงก์ชาติจะต้องช่วยเหลือ “กำลังชำระหนี้” ของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยการปรับโครงสร้างหนี้หรือพักชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นหนี้จัดชั้น NPL

คำชี้แจงข้อที่ 2 ก็ยืนยันว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด ระดับหนี้ NPL อาจปรับสูงขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามระบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันก็มีความเข้มแข็ง โดยมีระดับกองทุนและสภาพคล่องที่สูงในระดับต้น ๆ ของโลก

และก็มีข้อความต่อเนื่องกันมาว่า “สามารถนำสภาพคล่องที่มีอยู่ไปผ่อนภาระสภาพคล่องให้กับลูกหนี้โดยการเลื่อนการชำระหนี้ ลดค่างวดตามนโยบายทางการ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL ได้อย่างต่อเนื่อง”

ตรงนี้สิ! เหมือนส่อความเป็นนัยว่า อาจจะมีการต่อโปรฯ พักชำระหนี้รอบ 2

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยนี่สิ พูดเสียงฟังชัดทีเดียวว่า หากสิ้นสุดโปรฯ 3-6 เดือน (ในเดือนกันยาฯ) ถ้าสถานการณ์ชำระหนี้ ยังไม่กลับคืนสู่สภาวะปกติ ก็ต้อง ต่อโปรฯ รอบ 2 ออกไปอีก

เที่ยวนี้ ไม่รู้จะเป็นโปรฯ 3-6 เดือนแบบเดียวกับรอบแรกจนชนงวดสิ้นปีไปเลยหรือเปล่า

ก่อนอื่นผมก็ขอเรียนชี้แจงแบงก์ชาติเรื่องฐานะความมั่นคงในระบบธนาคารพาณิชย์ว่า “เรามองไม่ต่างกันหรอก” แบงก์ชาติบอกว่ามีระดับกองทุนและสภาพคล่องที่สูงในระดับต้น ๆ ของโลก ผมก็เห็นด้วยครับ

ระดับกองทุนตามหน้าเสื่อปัจจุบันคือร้อยละ 18.9 ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเหนือกว่าเกณฑ์แบงก์ชาติที่ระดับร้อยละ 11.0 และก็เหนือกว่ามาตรฐานบาเซิลที่ร้อยละ 10.5 เอามาก ๆ

การสำรองหนี้ (Coverage Ratio) ก็สูงในระดับเฉลี่ยถึงร้อยละ 144 ธนาคารกรุงเทพสำรองหนี้สูงสุดถึงร้อยละ 205 ธนาคารทิสโก้ ก็สำรองสูงรองลงมาที่ร้อยละ 190 แข็งแรงจากบทเรียน “ต้มยำกุ้ง” เอามาก ๆ เลยครับ

มาส่องกล้องดูที่กำไรสะสมของแต่ละแบงก์อันเปรียบได้กับ “เงินคงคลัง” ของรัฐบาล ซึ่งแบงก์ชาติเองก็ยังไม่ได้เสนอตัวเลขนี้ แต่ข่าวหุ้นธุรกิจขอนำเสนอให้เลยก็ได้ ปรากฏว่าแต่ละแบงก์มีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรในจำนวนที่สูงมาก ๆ

มีธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสะสมสูงสุดในระดับ 3 แสนล้านบาทขึ้นไปถึง 3 ธนาคาร นั่นคือไทยพาณิชย์ กรุงเทพ และกสิกรไทยตามลำดับ ธนาคารแห่งรัฐกรุงไทย ก็มีกำไรสะสมเฉียด 2 แสนล้านบาท

ฐานะปัจจุบันของระบบธนาคารพาณิชย์ มั่นคง-มั่งคั่งจริง ๆ ไม่เห็นใครจะโต้แย้งแบงก์ชาติและสมาคมธนาคาร

แต่ไอ้ที่ห่วงกันก็คือ การพักชำระหนี้ ไม่ว่าจะพักดอกชำระต้น หรือพักต้นชำระดอก หรือพักมันทั้งต้นทั้งดอกเลย แล้วไปเรียกเก็บเอาในวันหน้า มันก็เป็นการ “ซุกขยะใต้พรม” ไปในตัวด้วยนี่เอง

หน้าฉากก็ดูดีว่า เจ้าหนี้ไม่มี NPL สูง ลูกหนี้ก็ยังเป็นลูกหนี้ดี ไม่ผิดนัดชำระ แต่นี่มันก็เป็น “สึนามิ” รอปะทุเราดี ๆ นี่เองหรือเปล่า

ตัวเลขรับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างแบงก์ชาติ สมาคมธนาคาร และข่าวหุ้น ก็เป็นตัวเลขเดียวกันนั่นแหละ คือ ผู้เข้าโปรแกรมทั้งสิ้น 16.3 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้ 6.84 ล้านล้านบาท

ในขณะที่สถาบันเศรษฐกิจทั้งหลายมีแต่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเลวร้ายลงทุกวัน ผมก็ตั้งคำถามที่เป็นปกติสามัญที่สุดว่า ในยอดที่เข้าโปรมแกรมพักหนี้นี้ หากสิ้นสุดโปรแกรม (สิ้น ก.ย. 63) เกิดหนี้เสียสัก 10% มันก็ 6.84 แสนล้านบาทใช่ไหม แล้วแบงก์จะแย่ไหม

แล้วถ้าหนี้เสีย 20% ล่ะ แบงก์ก็เกิดหนี้เสีย 1.36 ล้านล้านบาท เข้าโปรแกรมคณิตศาสตร์ไปเรื่อย เป็นหนี้เสีย 30% มันก็ 2.05 ล้านล้านบาท และหากเป็น 40-50% มันก็เป็น 2.73 และ 3.42 ล้านล้านบาทตามลำดับใช่ไหม

ใครจะกล้ารับประกันได้ล่ะว่า เมื่อเปิดพรมออกมาหนี้เสียจะน้อยลง หรือจะบานทะโรคเป็นเลข 2 หลักอย่างที่ว่า คุณวิรไทหรือคุณปรีดี ดาวฉาย จะกล้ารับประกันไหมล่ะ

พักหนี้ภาคแรกที่ว่าน่ากลัวแล้ว เพราะรายได้แบงก์ก็เป็น “ลม” ลูกหนี้เสียก็กลายเป็นลูกหนี้ดี บิดเบือนกันไปเสียทั้งระบบ นี่ยังจะมีพักหนี้ภาค 2 กันอีก การจะอ้างให้ดูดีว่าเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ก็ว่ากันไป แต่ความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้เลยก็คือการ “กลบขี้” หรือ “ซุกขยะใต้พรม”

ไม่วันใดวันหนึ่งก็จะกลายเป็น “ขยะติดเชื้อ” หรือ “สึนามิเศรษฐกิจ” ปะทุ แล้วใครจะรับผิดชอบล่ะ

มัน “นรต.” ไม่อยากพูดมาก เจ็บคอ!

Back to top button