“ผู้ว่าฯธปท.” ชี้พัฒนาระบบการเงินดิจิทัล โจทย์สำคัญแบงก์ชาติทั่วโลก รับยุค “New Normal”

“ผู้ว่าฯธปท.” ชี้พัฒนาระบบการเงินดิจิทัล โจทย์สำคัญแบงก์ชาติทั่วโลก รับยุค “New Normal”


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “New Normal โจทย์ใหม่ของธนาคารกลางในโลกหลังโควิด ในพระสยาม Magazine ฉบับล่าสุดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้เป็นเรื่องยาก เพราะเป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขส่งผลกระทบกว้างไกลต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจโดยตรงหรือวิกฤติสถาบันการเงินที่เราคุ้นเคย และไม่ใช่วิกฤติจากภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ที่พอผ่านไปเศรษฐกิจก็กลับมาฟื้นตัวได้ แต่ครั้งนี้ไม่ทราบว่าการระบาดจะจบลงเมื่อไหร่และจบอย่างไร

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ภาวะเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศด้วย ทั้งผ่านห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และบางอุตสาหกรรมต้องพึ่งพิงต่างประเทศสูง เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ดังนั้น ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังไม่แน่นอน การประเมินสภาวะเศรษฐกิจไทยต้องมีหลายฉากทัศน์ (scenaria) และวางแผนเตรียมพร้อมรับมือหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ถ้าทุกอย่างจบเร็วเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้ดี แต่เราชะล่าใจไม่ได้

ทั้งนี้ จากการผ่อนปรนมาตรการในช่วงแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยภายในประเทศที่หยุดนิ่งไป 2-3 เดือนจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เช่น จะต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาปีละ 40 ล้านคน เพราะชีวิตหลังโควิด-19 จะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศยากขึ้น มีต้นทุนสูงขึ้น และมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละประเทศ

“เราต้องยอมรับว่าชีวิตหลังโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิม รูปแบบการทำธุรกิจ การใช้ชีวิต หรือการบริโภคของประชาชนจะเปลี่ยนแปลงมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องให้แน่ใจว่าเราปรับเปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจและวิถีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับโลกข้างหน้าได้” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวถึงการวางแผนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้และหลังจากนี้ว่า วิกฤติครั้งนี้คงไม่มีสูตรสำเร็จเพียงสูตรเดียวที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย คือ การจ้างงาน แต่เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมือนเดิม รูปแบบการจ้างงานก็จะเปลี่ยนไปมาก ยกตัวอย่าง ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจะใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (automation) มากขึ้น เราจะเห็นแรงงานจำนวนมากหางานได้ยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะไม่สูงมาก แรงงานในภาคบริการ หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา

“ปัญหาการจ้างงานนี้เป็นโจทย์เชิงโครงสร้างที่ทุกฝ่ายต้องประสานเสียงกันเพื่อออกนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่จะเร่งพัฒนาทักษะแรงงาน รวมถึงการสร้างงานและการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้” ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

มาตรการหลักที่ต้องเป็น “หัวจักรใหญ่” ในการฝ่าฟันวิกฤติรอบนี้ คือ มาตรการด้านการคลัง และมาตรการเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ (structural policy) เพราะเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดลง รายได้ของประชาชนและธุรกิจหดหาย มาตรการด้านการคลังจึงมีบทบาทสำคัญในการเติมรายได้เข้าสู่ระบบ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกหลากหลายมาตรการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนสร้างรายได้ใหม่ ขณะเดียวกันมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจก็จำเป็นไม่แพ้กัน เพราะเราต้องย้ายทรัพยากรจากโลกเก่าก่อนโควิด 19 ไปสู่โลกใหม่ ทั้งทรัพยากรทุนและแรงงานที่ต้องมีทักษาด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมากขึ้น

ในส่วนของ ธปท.มีหน้าที่ดูแลมาตรการด้านการเงินและระบบการเงิน ซึ่งถือเป็น”มาตรการเสริม”เพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวไปสู่โลกใหม่หลังโควิด 19 ได้รวดเร็วและสะดวกขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง เช่น เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐและภาคเอกชนไม่สูงนัก การลงทุนขยายธุรกิจหรือปรับรูปแบบธุรกิจก็สามารถทำได้ด้วยต้นทุนการเงินที่ถูกลง

นายวิรไท กล่าวอีกว่า วิกฤติครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ระบบสาธารณสุขและระบบสังคมในเอเชียมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าหลายภูมิภาคในโลก ทำให้ห่วงโซ่อุปทานที่อยู่ในเอเชียโดยเฉพาะจีนเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้นภูมิภาคเอเชียจะมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไป เมื่อวิกฤตโควิด 19 คลายลงเราจะได้เห็นการเชื่อมโยงของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี โลกาภิวัฒน์ (globalization) เป็นเรื่องสำคัญเพียงแต่รูปแบบจะเปลี่ยนไปจากเดิม เทคโนโลยีจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตทั้งในประเทศและข้ามประเทศ จะอยู่บนพื้นฐานดิจิทัลมากขึ้น ตลอดจนธุรกิจบริการที่อาศัยดิจิทัลเป็นพื้นฐาน (digital based) จะถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น

สำหรับประเทศไทยเรามีจุดแข็งหลายอย่างที่ทำให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ได้ดีกว่าหลายๆประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เริ่มจากเศรษฐกิจมหภาคและฐานการเงินระหว่างประเทศที่เข้มแข็งจนเป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติ ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพอย่างมากจนหลายประเทศชื่นชม นอกจากนี้ เรายังมีความมั่นคงทางอาหารโดยประเทศไทยสามารถผลิตอาหารได้มากกว่าความต้องการในประเทศโจทย์สำคัญคือเราจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งเหล่านี้ได้อย่างไรและจะเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากโลกเก่าไปสู่โลกใหม่หลังโควิด-19 ได้อย่างไร

ส่วนหากโควิด-19 กลับมาระบาดระลอก 2 ในเมืองไทย จะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากน้อยอย่างไรนั้น นายวิรไท กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดมาได้ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือจะปล่อยให้การ์ดตกไม่ได้เด็ดขาด เพราะถ้าหากเกิดการระบาดอีกระลอกคราวนี้ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรของภาครัฐทรัพยากรของภาคสถาบันการเงิน แม้กระทั่งเครื่องมือทางด้านนโยบายการเงินจะมีข้อจำกัดมากขึ้นและจะใช้ได้ยากขึ้นมาก ขณะเดียวกันถ้าจะให้วิกฤติจบแล้วค่อยมาเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจก็อาจจะสายไป

ดังนั้น จึงต้องวางนโยบายทางมิติของการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่พร้อมกัน และด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร ต้องหาสมดุลที่เหมาะสมอย่างน้อยใน 4 ด้านสำคัญ

ด้านแรกคือ ต้องเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วเราเรียกว่ามาตรการ “ดับไฟ” ดังนั้น ในช่วงที่สถานการณ์ต้องเกิดเราจึงต้องให้น้ำหนักกับมาตรการเยียวยาค่อนข้างมากเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจอยู่รอด และสามารถก้าวข้ามภาวะที่ยากลำบากนี้ไปได้ต้องดูแลระบบเศรษฐกิจไม่ให้หยุดชะงักแรง และไม่ให้เกิดปัญหาสังคมรุนแรง

ด้านที่ 2 คือ ต้องไม่ทำให้ระบบสถาบันการเงินอ่อนแอจนอาจเกิดปัญหาในอนาคต เราผ่านวิกฤติการเงินมาหลายครั้ง ทำให้มีระบบกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เคร่งครัด สถาบันการเงินมีเงินกองทุนและตั้งสำรองเผื่อหนี้เสียอยู่ในระดับสูงตลอดจนมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ทำให้วันนี้เราสามารถขอให้สถาบันการเงินไทยมาช่วยเหลือลูกหนี้ได้หลากหลายวิธี

แต่ทั้งนี้ ต้องระวังไม่ให้มาตรการเหล่านี้ทำให้ระบบสถาบันการเงินอ่อนแอจนสร้างปัญหาในระยะยาว เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อวิกฤติโควิด 19 คลี่คลายสถาบันการเงินจะไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ หรืออาจก่อให้เกิดวิกฤติสถาบันการเงินตามมา นอกจากนี้จะต้องระวังไม่ให้มาตรการเยียวยาต่างๆ กระทบต่อวินัยทางการเงินของลูกหนี้ซึ่งอาจผลเสียในระยะยาวได้ เช่น ยืดระยะเวลาชำระหนี้ทั้งที่ลูกหนี้ยังสามารถชำระจ่ายชำระหนี้ได้อยู่

ด้านที่ 3 คือ ต้องไม่สร้างภาระทางการคลังจนมากเกินควร เราต้องตระหนักว่ารัฐบาลมีทรัพยากรจำกัดและต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนหลากหลายกลุ่มหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุขหรือด้านสังคม ดังนั้น จำเป็นต้องมีแผนจัดสรรทรัพยากรอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ขณะเดียวกันก็ต้องมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์

นี่เป็นเหตุผลว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่อาจทุ่มงบประมาณไปกับมาตรการเยียวยาได้ทั้งหมด เพราะต้องจัดสรรบางส่วนไว้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายด้วย

ด้านสุดท้ายคือ มาตรการต่างๆ ต้องสนับสนุนให้คนไทยและผู้ประกอบการไทยปรับตัวให้เข้ากับวิถีของโลกใหม่หลังโควิด- 19 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ธุรกิจสายการบินในอนาคตคนจะเดินทางน้อยลง สายการบินต้องปรับโครงสร้างธุรกิจโดยลดกำลังการผลิตและอุปทานส่วนเกินก่อนที่จะเติมเงินเข้าไปช่วยเหลือ แนวทางนี้จะช่วยให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดสอดคล้องกับโจทย์ของโลกใหม่

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหลายธุรกิจยังยึดวิธีการทำธุรกิจรูปแบบเดิมคิดว่าหลังโควิด-19 คลี่คลายลงแล้วทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิม เราจึงต้องช่วยกันคิดและส่งเสริมให้เกิด “นโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ให้มากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจในวิถีโลกใหม่

สำหรับ New Normal ของธนาคารกลางทั่วโลกนับจากนี้ นายวิรไท กล่าวว่า ธนาคารกลางทั่วโลกก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่หลังวิกฤติโควิด-19 ยกตัวอย่าง 3 เรื่องที่ธนาคารกลางต้องให้ความสำคัญ

เรื่องแรก โลกจะเข้าสู่กระแสดิจิทัลเร็วขึ้น สถาบันการเงินต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกการเงินวิธีใหม่ ธปท.ได้ส่งเสริมธุรกรรมการเงินดิจิทัลมาตลอดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราเริ่มใช้พร้อมเพย์ และ QR Code ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สถิติการโอนเงินชำระผ่านพร้อมเพย์ทำลายสถิติทุกเดือนปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยพุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 16 ล้านรายการต่อวัน ขณะที่จำนวนร้านค้าที่ติดตั้ง QR Code เพิ่มถึง 6 ล้านจุดทั่วประเทศ ส่งผลให้ปริมาณธุรกรรมผ่าน QR Code เพิ่มขึ้นมาก

เมื่อธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นเร็วมาก ขณะที่การทำธุรกรรมการเงินรูปแบบเดิมและปริมาณธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารลดลงเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ที่การติดต่อแบบบุคคลกับบุคคลจะลดลงและเปลี่ยนมาใช้สื่ออื่นในการทำธุรกรรมมากขึ้น ฉะนั้น การเร่งพัฒนาระบบการเงินดิจิทัลเพื่อรองรับธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจึงเป็นโจทย์สำคัญของธนาคารกลางทั่วโลก

ธปท.ก็ยังมีโจทย์เรื่องการต่อยอดบริการทางการเงินให้เป็นรูปแบบดิจิทัลอยู่อีกมาก ต้องครอบคลุมหลากหลายบริการโดยเฉพาะสำหรับภาคธุรกิจ ระบบการเงินดิจิทัลจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินต่อได้ในสถานการณ์ที่มีความผันผวนสูง ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน และทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีผลิตภาพที่ดีขึ้น

เรื่องที่ 2 โลกจะอยู่ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกนาน ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก 2008 ก่อนจะเกิดโควิด-19 ธนาคารกลางบางแห่งรวมถึง ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้กลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องนานจะสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ประชาชนไม่มีแรงจูงใจที่จะออม หนี้สินอยู่ในระดับสูง ในโลกหลังโควิด-19 ธนาคารกลางทุกประเทศต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อช่วยลดผลกระทบและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหนี้สินของประชาชนและธุรกิจจะยิ่งเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเพราะรายได้ลดลงมาก

ธปท. เป็นธนาคารกลางแห่งแรกแรกที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อการระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่เดือน ก.พ.63 ในวันนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ต่อปี ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ต้องถือว่าเราโชคดีที่การแพร่ระบาดในไทยสามารถควบคุมได้ และระบบการเงินของเราไม่ได้มีจุดเปราะบางเหมือนในหลายประเทศ ระบบสถาบันการเงินมีสถานะเข้มแข็ง ทำให้ ธปท.สามารถออกมาตรการหลายอย่างผ่านระบบสถาบันการเงินเพื่อมาเสริมการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

เรื่องที่ 3 เสถียรภาพของระบบการเงินจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบธนาคารพาณิชย์แบบที่คุ้นเคยในอดีตเท่านั้น เพราะระบบการเงินปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันสูงและครอบคลุมทั้งตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวม วิกฤติรอบนี้ธนาคารกลางหลายแห่งต้องออกเครื่องมือมาดูแลระบบการเงินและตลาดการเงินที่กว้างไกลกว่าระบบธนาคารพาณิชย์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจลุกลามไปทางระบบ ในยุคหลังโควิด-19 ธนาคารกลางจะมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพใหญ่เพิ่มขึ้น

ทั้ง 3 ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าโจทย์ของธนาคารกลางทั่วโลกหลังวิกฤตโควิด-19 อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่คาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องเร่งขับเคลื่อนให้แรงขึ้นและเร็วขึ้นเพื่อจะได้เท่าทันกับปัญหาหรือความท้าทายที่จะเพิ่มมากขึ้นหลังจากโควิด-19 คลี่คลายลง

นายวิรไท กล่าวถึงคำแนะนำในการดูแลสุขภาพทางการเงินว่า มิติแรกที่ทุกคนควรตระหนักคือการมีเงินออมเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีเงินออมที่เพียงพอจะทำให้เรารับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ เราต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกมากในภาวะโลกร้อนจะทำให้โรคอุบัติใหม่เกิดบ่อยขึ้น และภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงขึ้น การจะมีเงินออมต้องเริ่มจากการตรวจสุขภาพทางการเงินควรใช้จ่ายเฉพาะในเรื่องจำเป็นและวางแผนการออมให้เพียงพอ ที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการออม ยิ่งพอเจอวัฒนธรรม “ของมันต้องมี” ก็ยิ่งสร้างจุดเปราะบางให้กับฐานะการเงินของตัวเอง

มิติต่อมาคือ การบริหารจัดการเงินออม ต้องรู้จักวิธีกระจายความเสี่ยงของการออมรูปแบบต่างๆ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับตำนานเรามักจะเห็นเหตุการณ์ที่คนแห่ไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยไม่เข้าใจความเสี่ยงหรือประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรซึ่งอาจนำไปสู่การถูกหลอกลวงได้ หรือถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปจากที่คาดไว้อาจจะทำให้ขาดทุนได้ ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงเข้าใจความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ

มิติที่สามคือ การบริหารจัดการหนี้ในช่วงโควิด-19 บางคนที่มีภาระหนี้สินอยู่แล้วอาจมีหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นอีกเพราะรายได้ของทั้งประชาชนและธุรกิจลดลงมาก ธปท.จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และร่วมกับสถาบันการเงินหลายแห่งออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้กับประชาชนและธุรกิจเช่นการเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีอัตราผ่อนชำระคงที่ทุกเดือนและอัตราดอกเบี้ยต่ำลงมาก

ทั้งนี้ ธปท.ได้รวบรวมมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินทุกแห่งไว้ที่เว็บ BOT COVID-19 (www.bot.or.th/covid19) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้สามารถศึกษาแนวทางการปรับปรุงภาระหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และความจำเป็นของแต่ละรายการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก

นอกจากนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ติดต่อไปยังสถาบันการเงินแล้วไม่ได้รับการตอบสนองที่ดี ธปท.ได้จัดตั้ง “ทางด่วนแก้หนี้”เป็นคนไกลรวบรวมคำร้องเรียนส่งให้กับสถาบันการเงินทุกวันและเร่งติดตามข้อร้องเรียนต่างๆ รวมถึงยังมีโครงการ “คลินิกแก้หนี้” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียและมีเจ้าหนี้หลายราย ให้สามารถเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆแบบจบที่เดียว (one stop) ทางบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM

“ผมขอให้กำลังใจทุกคนว่าโควิด-19 นี้ไม่ใช่วิกฤติใหญ่ครั้งแรกที่ประเทศไทยเผชิญ เราผ่านมาแล้วหลายวิกฤติและสามารถก้าวข้ามผ่านมาได้ ผมเชื่อว่า การปรับตัวเองให้สอดคล้องกับโลกใหม่จะช่วยให้พวกเราทุกคนก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน” นายวิรไท กล่าว

Back to top button