KTC ร่วง 5% โบรกฯหั่นคำแนะนำ “ขาย” ชี้ผลงานครึ่งปีหลังไม่สดใส

KTC ร่วง 5% โบรกฯหั่นคำแนะนำ “ขาย” ชี้ผลงานครึ่งปีหลังไม่สดใส


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ณ เวลา 10.56 น. อยู่ที่ระดับ 30.25 บาท ลบ 1.50 บาท หรือ 4.72% สูงสุดที่ระดับ 32 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 30 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 153.17 ล้านบาท

ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯปรับลดคำแนะนำหุ้น KTC เป็น “ขาย” จากเดิม “ถือ” ประเด็นสำคัญที่ได้จากผู้บริหาร KTC คือ NIM จะลดลงมากกว่าที่คาดไว้ และผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง จะแย่กว่าในครึ่งปีแรก ซึ่งแปลว่ากำไรมีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์อาจจะดีขึ้นเนื่องจาก NPL ชะลอตัวลงในไตรมาส 3/63 เพราะจะมีการเร่งตัดหนี้สูญ และมีการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปรับโครงสร้าง

ดังนั้น จึงปรับเพิ่มสมมติฐาน credit cost ปี 63/64 เพิ่มขึ้นเป็น 7.0%/5.2% (จาก 6.%/4.5%) และปรับสมมติฐานผลตอบแทนสินเชื่อลดลงเหลือ 22%/20% (จากเดิม 22.7%/22%) ส่งผลให้ประมาณการกำไรปี 63/64 ลดลง 21%/14% ซึ่งเมื่อใช้ P/E ที่ 15 เท่า บนกำไรเฉลี่ยสองปีข้างหน้าจะทำให้ได้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้าที่ 33 บาท ทั้งนี้ ราคาหุ้นค่อนข้างแพงโดยคิดเป็นเกือบ +1.0 S.D. จากค่าเฉลี่ยระยะยาว

ทั้งนี้ จากนโยบายใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อ P-loan เหลือ 25% (จากเดิมที่ 28%) และสินเชื่อบัตรเครดิตเหลือ 16% (จากเดิม 18%) KTC คาดว่าจะทำให้อัตราผลตอบแทนสินเชื่อ และ มาร์จิ้นของบริษัทลดลง 2.25% ในครึ่งปีหลัง (หรือประมาณ -1% ในปี 63) และจะส่งผลกระทบเต็มปีในปี 64 โดยบริษัทคาดว่า NIM จะลดลงมากกว่าที่ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้เพราะ yield สินเชื่อของ KTC มักจะต่ำกว่าเพดานอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง NIM ที่ลดลงทุก ๆ 1% จะทำให้รายได้ลดลงประมาณ 800 ล้านบาท และกำไรสุทธิลดลงประมาณ 12%

หลังจากนำมาตรฐานบัญชี TFRS9 มาใช้ NPL ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1% ของสินเชื่อในไตรมาส 4/62 เป็น 6.6% ในไตรมาส 2/63 เนื่องจากมาตรฐานบัญชีใหม่ไม่อนุญาตให้บริษัท write-off อย่างหักโหม โดยในไตรมาส 2/63 ตัวเลข NPL เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 70% และฉุดให้สัดส่วน NPL coverage ลดลงเหลือแค่ 157%

ทั้งนี้ เพื่อลด NPL ลง บริษัทกำลังหารือกับผู้สอบบัญชีเพื่อปรับวิธีการจัดชั้น NPL และ TDR ให้มีลักษณะอนุรักษ์นิยมน้อยลงกว่าเดิมเพื่อรักษาสัดส่วนสำรองฯ/หนี้เสีย (NPL coverage) เอาไว้ไม่น้อยกว่า 100% ซึ่งถ้าหาก KTC สามารถรักษาระดับ NPL เอาไว้ได้ที่ไตรมาสละ 300 ล้านบาท (เหมือนกับในครึ่งแรกของปี 63) สัดส่วน NPL ก็จะพุ่งขึ้นเป็น 9-10% และจะฉุดให้ NPL coverage ลดลงเหลือประมาณ 125% (จาก 157% ในปัจจุบัน)

Back to top button