เปิดกลยุทธ์ลุย Non-Banks รับครม.ผ่อนคลายกฎ D/E กู้ซอฟต์โลน กดต้นทุนต่ำ-หนุนรายได้เพิ่ม

เปิดกลยุทธ์ลุย Non-Banks รับครม.ผ่อนคลายกฎ D/E กู้ซอฟต์โลน กดต้นทุนต่ำ-หนุนรายได้เพิ่ม


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มสินเชื่อ หลังจาก ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่มิใช่สถาบันการเงินจากเหตุระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ของธนาคารออมสินได้ โดยคาดว่าจะส่งผลดีต่อ Spread ในระดับหนึ่งเพราะต้นทุนที่ต่ำ ทำให้รายได้ของกลุ่ม Non-Banks เพิ่มมากขึ้น

โดย บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ หลังจาก ครม. เมื่อวันที่ 29 ก.ค. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่มิใช่สถาบันการเงินจากเหตุระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ของธนาคารออมสินได้

โดยมีการกำหนดให้ไม่ต้องนำเงื่อนไขอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต จากเดิมเงินกู้ต้องไม่เกิน 7 เท่าของเงินทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น และประเมินว่าร่างกฎกระทรวงผ่อนปรนเงื่อนไขฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ถึง วันที่ 30 มิ.ย. 2566 โดยได้ผ่านการเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) แล้ว

ทั้งนี้ มีมุมมองเป็นบวกต่อข่าวข้างต้น จากการที่ Non-bank สามารถเข้าถึง Softloan ได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมีความกังวลเรื่อง D/E ratio ที่เกิน Covenant และร่างกฎกระทรวง ส่งผลบวกให้ Cost of fund ลดลง, ช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มขึ้น และทำให้สินเชื่อขยายตัวมากกว่าที่คาด เนื่องจาก Softloan คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2% โดยมีเกณฑ์ที่ให้กู้ไม่เกิน 5 พันล้านบาท หรือ/และ ไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อของผู้กู้

โดยกลุ่ม Finance ประเมินว่าจะไม่ได้ผลบวกอย่างมีนัย เนื่องจากระดับ D/E ปัจจุบันที่ต่ำประมาณ 1.5x – 5.7x และเมื่อนำเงินกู้ยืมสูงสุดที่ 10% ของพอร์ตสินเชื่อ และ/หรือ ไม่เกิน 5.0 พันล้านบาท จะทำให้ D/E เพิ่มขึ้นเป็น 3.1x – 6.4x ทั้งนี้คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” และ Top pick เป็น MTC (ซื้อ/เป้า 63 บาท)

MTC (ซื้อ/เป้า 63 บาท) คาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/2563 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากคุณภาพสินเชื่อที่ดี และสำรองฯลดลง ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 63.00 บาท อิง 2020E PBV 6.7x (-0.25SD below 5-yr average PBV) เราประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 2/2563 ที่ 1.27 พันล้านบาท (+24% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน, +2% จากไตรมาสก่อน) จากสินเชื่อที่ขยายตัว +16% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ตามความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอม และฤดูกาลทางการเกษตร, NPLs ที่ดีขึ้น และค่าใช้จ่ายสำรองฯที่ลดลง จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ในขณะที่เราประเมินว่า loan yield จะปรับตัวลงตามมาตรการลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ระยะสั้นช่วง เม.ย.-ส.ค.

ทั้งนี้ยังคงกำไรสุทธิปี 63 ที่ 4.55 พันล้านบาท (+7% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) จากสินเชื่อที่ขยายตัว +10% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ตามสาขาที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.7 พันแห่ง (จาก ณ สิ้นไตรมาส 2/2563  ที่ 4.6 พันแห่ง) และจะขยายตัวต่อเนื่องโดยเราประเมินว่ากำไรสุทธิปี 64จะอยู่ที่ 5.4 พันล้านบาท (+19% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) ราคาหุ้นปรับตัวลง และ underperform SET -5% ในช่วง 1 เดือน จากการเข้ามาแย่งลูกค้าของธนาคารออมสินที่คิดดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รอบ 2 ที่ ธปท. ออกมากำกับเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยให้ลดลง อย่างไรก็ตามเรายังคงแนะนำ “ซื้อ” จาก 1) ธนาคารออมสินมีสาขาที่สามารถดูแลลูกหนี้ได้ต่ำกว่าบริษัท, 2) ผลกระทบที่จำกัดจากมาตรการของธปท., 3) กำไรไตรมาส 2/2563 จะยังคงขยายตัว และ 4) ผลการดำเนินงานในระยะยาวจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง คิดเป็น 2019-2021E net profit +13% CAGR และ ROAE ในระยะยาวที่ยังสูง 25%

KTC (ถือ/เป้า 32.00 บาท) คาดกำไรครึ่งปีหลังของปี 2563 ยังได้รับแรงกดดันจาก loan yield ที่ต่ำ

ยังคงคำแนะนำ “ถือ” และราคาเป้าหมายที่ 32.00 บาท อิง 2020E PBV ที่ 3.6x (5-yr average PBV) เรามีมุมมองเป็นกลางจากการประชุมนักวิเคราะห์วานนี้ (29 ก.ค.) โดยเรายังคงประเมินกำไรครึ่งปีหลัง ที่จะหดตัว -9% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และ -2% ครึ่งปีกแรก จาก 1) รายได้ดอกเบี้ย และ NIM ลดลง จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รอบ 2 (ลดดอกเบี้ยลง 2%-3% ตั้งแต่ ส.ค. 2020), 2) NPLs และค่าใช้จ่ายสำรองฯจะยังอยู่ในระดับสูง จากการตัดจำหน่ายหนี้สูญที่ช้าลง และการไม่ restage และ 3) Cost to income เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ช่วง Spending ที่สูง โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ที่ 5.34 พันล้านบาท (-3% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) ราคาหุ้นปรับตัวลง และ underperform SET -14% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้เราประเมินว่าผลการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัทจะขยายตัวต่ำเพียง 2019-2021E EPS CAGR +4% และ ROAE ที่ปรับลดลงเป็น 24% จากปีก่อน 31% จึงคงแนะนำเพียง “ถือ”

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) แนะนำ Neutral กลุ่ม Non-Banks  หลังจากครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจ แก่ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) จากเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ตามกระทรวงพาณิชย์เสนอ

โดยสาระสำคัญคือจะไม่นำเงื่อนไขอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ (ซึ่งต้องไม่เกิน 7 เท่าของเงินทุนส่วนของผู้ถือหุ้น) มาใช้ในการประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 43 ของพรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาใช้บังคับ Non-Banks ที่ได้รับสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและได้นำสินเชื่อนั้นไปช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ซึ่งร่างฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.66 ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า

1) จากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจและประชาชนเป็นวงกว้าง ธปท.ได้มีหนังสือเรื่องมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อ 26มี.ค.63 เพื่อขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ Non-Banks ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพิจารณาผ่อนผันอัตราส่วนเงินทุนให้แก่สมาชิกของสมาคมที่เป็นคนต่างด้าว โดยให้มีอัตราส่วนเงินทุนต่อเงินกู้เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงถึงเดือนมี.ค.65 เป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มสมาชิกของสมาคมที่เป็นผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถยนต์ และเป็นผู้ประกอบธุรกิจ Non-Banks ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือผู้เช่าซื้อด้วยการผ่อนผันการชำระหนี้ตามที่ธปท.ร้องขอ

2) มติครม. 7 เม.ย.63 ได้เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non-banks ภายใต้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19 ตามที่คลังเสนอ เพื่อให้ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ Non-Banks เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแต่ละบริษัทโดยการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ลิสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื่รถจักรยานยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถให้แก่ประชาชน

3) คณะกรรมการประกอบธุรกิจต่างด้าว ได้ประชุมเมื่อ 27 พ.ค.63 พิจารณาและมีมติเห็นชอบแนวทางในการตรากฎกระทรวงเพื่อไม่นำเงื่อนไขอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจมาใช้บังคับกับนิติบุคคลต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) และกระทรวงพาณิชย์เห็นชอบผลการพิจารณาแนวทางดังกล่าวเมื่อ 19 มิ.ย.63  ทั้งนี้เพื่อช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากการที่ Non-Banks ได้รับสินเชี่อและได้ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้ได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขในช่วงการระบาดของโควิด-19  (อินโฟเควสท์)

ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าวถือเป็นประเด็นค่อนข้างบวกระยะสั้นต่อกลุ่ม Non-Banks ทั้งนี้จะทำให้ กลุ่ม Non-Banks สามารถกู้ Soft Loans ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสินไปปล่อยกู้ช่วยเหลือลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะคิดดอกเบี้ยในระดับหนึ่งไม่ได้มากนักเพื่อเป็นการช่วยลูกค้า ทั้งนี้ โดยไม่ต้องกังวลกับเงื่อนไข D/E > 7 เท่า ทำให้สินเชื่อโตขึ้น + Spread ที่น่าจะค่อนข้างดีในระดับหนึ่งเพราะต้นทุนที่ต่ำ ทำให้รายได้ของกลุ่ม Non-Banks เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ต้องขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าที่ได้รับการช่วยเหลือจะกลับมาเป็นปกติหรือเป็นหนี้เสีย ซึ่งถ้ากลับมาเป็นปกติได้ก็จะส่งผลดีกับกลุ่ม Non-Banks ที่ปล่อยกู้ แต่ถ้าเป็นหนี้เสียก็จะส่งผลต่อภาระการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่ากลุ่ม Non-Banks น่าจะมีระบบการคัดกรองลูกค้าที่ดี ประกอบกับการประวิงเวลา ผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ ช่วยยืดเวลาให้ลูกค้า บวกกับสถานการณ์ภายในประเทศที่ค่อยๆ ดีขึ้น จะทำให้ลูกค้าสามารถกลับมาได้และไม่เป็นหนี้เสียมากนัก จึงคงคำแนะนำกลุ่ม Non-Banks ที่ระดับ Neutral โดย Top Picks คือ MTC (TP:57.-), SAWAD (TP:55.-)

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button