พระเสาร์แทรก ที่การบินไทย

ตัวเลขขาดทุนสองไตรมาสแรกมากกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท นอกจากเป็นเชิงลบใหม่ล่าสุดของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แล้ว ยังนำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่เลวร้ายเป็นหางว่าวตามมาอีกพะเรอเกวียน


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

ตัวเลขขาดทุนสองไตรมาสแรกมากกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท นอกจากเป็นเชิงลบใหม่ล่าสุดของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แล้ว ยังนำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่เลวร้ายเป็นหางว่าวตามมาอีกพะเรอเกวียน

ผู้บริหารพยามโยนความผิดทั้งหลายไปให้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเกิดจากการควบคุมและจำกัดอย่างเข้มงวด ทำให้ต้องปรับลดเที่ยวบินตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีจนถึงสิ้นไตรมาสสอง ทำให้ THAI และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 38,001 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 11,790 ล้านบาท หรือ 23.7% แต่รายจ่ายกลับลดลงช้ากว่า เพียง 15.8% ผลลัพธ์คือ ผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท ในไตรมาสแรก ส่งผลให้ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบทันที ต้องเข้าสู่กระบวนกร ช่วงชิงโอกาส ยื่นขอล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลาง

ในการยื่นขอล้มละลาย ทีแรกเข้าใจกันเองว่า ผู้บริหาร THAI ต้องการเป็นผู้บริหารแผนเสียเอง แต่เมื่อเปิดเผยข้อมูลล่าสุด เมื่อวานนี้ กลับโอละพ่อ เพราะผู้บริหาร THAI เลือกให้คนนอกอย่างบริษัทตรวจสอบบัญชีอย่าง EY ทำการแทน

การเลือกให้คนนอกบริหารแผนฟื้นฟูกิจการแทน สะท้อนว่า หนี้สินที่ต้องการแก้ไข หลังจากล้มละลายของ THAI มีความซับซ้อนมากกว่าธรรมดา

ในไตรมาส 2 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลให้ THAI ต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดเป็นการชั่วคราว โดยทำการบินเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน ทำให้มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 96.5% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 99.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 10.3% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น แค่  8 หมื่นคน ลดลงจากปีก่อน 98.6%

การขาดทุนสุทธิไตรมาสสองขาดทุนสุทธิ 5,339.93 ล้านบาท ทำให้ตัวเลขขาดทุนสุทธิครึ่งแรกของปี 28,016.46 ล้านบาท ส่งผลทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบทันทีที่ -16 ล้านบาทเศษ

ตัวเลขส่วนผู้ถือหุ้นที่ติดลบเล็กน้อย เทียบกับยอดหนี้ที่มีมหาศาล ก็เพียงพอที่หุ้น THAI ถูกขึ้นเครื่องหมายทั้ง SPและ C พร้อมกันไป

ช่วงเวลาประกาศงบที่ตรงกับวันที่ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนนัดแรกพอดี เรียกว่าพระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรกพอดิบพอดี

วานนี้ ศาลล้มละลายกลางไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ THAI นัดแรก โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน 16 รายที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยโดยเฉพาะเจ้าหนี้ตั๋วโดยสารที่ขอเรียกเงินคืน รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์วชิระพยาบาล และบมจ.ทิพยประกันชีวิต จากที่บริษัทมีเจ้าหนี้รายใหญ่มากกว่า 100 ราย มูลหนี้รวม 3 แสนล้านบาทเศษ

การเปิดตัวผู้บริหารแผนคือ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะหนึ่งในผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ ถือเป็นข้อมูลใหม่น่าสนใจ ที่ทำให้เกิดประเด็นคำถามตามมา เพราะฟันค่าบริการแผนเสียเละเทะ ทั้งที่ขาดประสบการณ์

ทนายฝ่ายเจ้าหนี้ได้ซักค้าน ได้พุ่งเป้าเกี่ยวกับการจัดจ้างบริษัท อีวาย คอร์ปอเรทฯ ซึ่งนายชาญศิลป์ตอบคำถามว่า ไม่ทราบว่า อีวาย คอร์ปอเรทฯ เป็นคนละบริษัทกับสำนักงานอีวายที่เป็นบริษัทผู้สอบบัญชี และไม่ทราบว่าอีวาย คอร์ปอเรทฯ มีกรรมการที่ไม่มีประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาการฟื้นฟูธุรกิจขนาดแสนล้านบาท หรือ รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เลย

คำแก้ตัวของนายชาญศิลป์ ที่เป็นรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ที่ว่า ตนเข้ามาเป็นผู้บริหาร THAI หลังจากที่แต่งตั้ง อีวาย คอร์ปอเรทฯ เป็นหนึ่งในผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนเมื่อมีการแต่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว อีวาย คอร์ปอเรทฯ จะต้องร่วมลงนามในแผนด้วยหรือไม่นั้น นายชาญศิลป์ ตอบว่าไม่ทราบ แล้วยืนยันว่ายังไม่ได้มีการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับอีวาย คอร์ปอเรชั่นฯ แต่อย่างใด

นอกจากนี้ นายชาญศิลป์ ยังบอกว่า แหล่งที่มาของเงินที่ THAI จำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียนปีละ 6 หมื่นล้านบาท และยังมีหนี้สะสมอีก 3.5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่มี แต่อนาคตต้องมีแน่นอน

ด้านนายปิยสวัสดิ์ กรรมการชุดใหม่ของ THAI บอกว่า ได้รับรายงานเรื่องการคัดเลือกอีวาย คอร์ปอเรทฯ เข้ามาเป็นคณะผู้ทำแผน โดยเป็นคนละบริษัทกับสำนักงานอีวายที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี แล้วกรณีที่มีประสบการณ์ช่วยฟื้นฟูกิจการมา 3 บริษัท เช่น บริษัทสหฟาร์ม แต่ล้มเหลวนั้น ก็ทราบดี เช่นกันกับข้อมูลที่ว่า ค่าตอบแทนจ้างอีวาย คอร์ปอเรทฯ เข้ามาทำแผนฟื้นฟู THAI ตามสัญญา จำนวน 22 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นงวด และจ่ายค่าดำเนินการ 15 ล้านบาท/เดือน ตั้งแต่ศาลแต่งตั้งผู้ทำแผนจนกว่าศาลจะเห็นชอบแผน อย่างไรก็ดี รายละเอียดส่วนนี้ไม่ได้ระบุในแผนเพราะรอให้ศาลอนุมัติแผนก่อน

ด้านนางสาวชุติมา ตัวแทนของ  อีวาย คอร์ปอเรทฯ ตอบว่า ได้รับการติดต่อจาก THAI ให้มาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูพร้อมกับบริษัทอีกราย ซึ่งเป็นงานที่ผู้ทำแผนทราบว่าจะต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ซึ่งระบุชัดเจนอยู่แล้ว โดย THAI ได้ทำสัญญาว่าจ้างหลังจากพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่มีประสบการณ์เข้าบริหารแผนฟื้นฟูกิจการระดับแสนล้านบาท เพราะไม่ค่อยมีกิจการระดับนี้เข้ามาฟื้นฟูกิจการ

ตอบไปคนละทิศละทางอย่างนี้ คนเป็นเจ้าหนี้ไม่กลุ้มใจ ถือว่าเข้าข่าย 2 ข้อคือ ไร้เดียงสาเกิน หรือไม่ก็โกหกตัวเองเก่ง

อีกไม่เกินสองสัปดาห์ก็คงรู้ชัดว่า ศาลล้มละลายกลางจะชี้ขาด 2 ประเด็น ควรให้ THAI ฟื้นฟูกิจการหรือไม่และควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนฯ ตามที่บริษัทเสนอมาหรือไม่

ระหว่างนี้ อาการพระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรกคงต้องดำรงต่อไปอีกช่วงหนึ่งจนกว่าจะชัดเจนว่าจะออกหมู่หรือจ่า

Back to top button