CPF-TU ลิ้มรสกำไรดี.!

ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง..!! สำหรับ 2 หุ้นอาหารที่โชว์กำไรไตรมาส 2 โตระเบิดระเบ้อสวนกระแสโควิด-19...ซึ่งถือเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัวที่ยังเติบโตแข็งแกร่ง


สำนักข่าวรัชดา

ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง..!! สำหรับ 2 หุ้นอาหารที่โชว์กำไรไตรมาส 2 โตระเบิดระเบ้อสวนกระแสโควิด-19…ซึ่งถือเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัวที่ยังเติบโตแข็งแกร่ง

รายแรกเป็นหุ้นพิมพ์นิยม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่ก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นซบเซาหนัก ต่ำ 30 บาทมาพักใหญ่ เจออาถรรพ์เลข 30 สะกดวิญญาณมายาวนาน…เพิ่งจะผ่านมาได้ ด้วยความคาดหวังกำไรจะดีขึ้น จากแนวโน้มราคาหมูและไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ด้วยความคาดหวังดังกล่าว ผลักดันให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้น CPF ทั้งจากนักลงทุนสถาบัน รายใหญ่ และรายย่อย เลยผ่านแนวต้าน 30 บาทมาได้

สุดท้ายงบออกมาสวย โชว์กำไรสุทธิ 6,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,104 ล้านบาท ทำสถิตินิวไฮ…

โดยมีรายได้จากการขาย 143,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เป็นผลจากรายได้จากการขายของกิจการต่างประเทศเพิ่มขึ้น 12% ส่วนกิจการประเทศไทยลดลง 2%

ขณะที่ อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18% ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 14% โดยมีปัจจัยหลักจากราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้น จากปริมาณหมูที่ลดลงเพราะการระบาดของโรคไข้หวัดหมูแอฟริกา (African Swine Fever) ประกอบกับธุรกิจสัตว์น้ำในไทยมีผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น จากการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

ส่งผลให้ครึ่งปีแรก CPF ตุนกำไรสุทธิไว้แล้ว 12,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,383 ล้านบาท

แหม๊…น่าเสียดาย อุตส่าห์โชว์งบสวยทั้งที แต่หลังประกาศงบออกมากลับเกิดปรากฏการณ์ Sell on Fact ซะงั้น…

แต่ยังถูกมองว่าราคาหมูยังอยู่ในระดับสูง ช่วยหนุนผลงาน CPF เติบโตต่อเนื่อง…

เท่ากับว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่สดใสซาบซ่าของ CPF

อีกรายที่ทำผลงานได้ดีไม่แพ้กัน เป็นหุ้นอาหารกระป๋อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ที่ออกไปหากินนอกบ้านเป็นหลัก

ก่อนหน้านี้ TU ถูกมองว่าจะได้ประโยชน์จากโควิด-19 คาดหวังว่าในช่วงล็อกดาวน์อาหารกระป๋องในสหรัฐฯ จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ผลออกมาก็ไม่สร้างความผิดหวัง โชว์กำไรสุทธิโตถึง 1,440% อยู่ที่ 1,716 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 111 ล้านบาท

ทั้ง ๆ ที่ไตรมาสนี้มีการบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม Red Lobster จากการชัตดาวน์

ที่สำคัญไม่มีคดีความให้ระคายเคืองเหมือนในไตรมาส 2/2562 ที่ต้องบันทึกค่าใช้จ่ายคดีความสูงถึง 1,402 ล้านบาท…

ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 2.6% อยู่ที่ 33,051 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายสินค้าธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปเพิ่มขึ้น 16.8% เนื่องจากในช่วงล็อกดาวน์ผู้บริโภคหันมาปรุงอาหารในครัวเรือนกันมากขึ้น ส่วนยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งลดลง 14% เพราะได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง

ด้านกำไรขั้นต้นก็ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6,027 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 5,364 ล้านบาท ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.2% เพิ่มขึ้น 1.59%

ถือว่าไตรมาสนี้ TU ทำได้ดีทีเดียว…และคาดว่าจะดีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

ก็อย่าเพิ่งวางใจไป…สถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างนี้อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้

แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ CPF และ TU ขึ้นแท่นเป็น “หุ้นอาหารที่ลิ้มรสกำไรดี” ไปแล้วอะดิ…

น่าอิจฉาเนอะ…

…อิ อิ อิ…

Back to top button